มีข่าวดีมาบอก 4 เคล็ดลับ กินสับปะรดให้แสบลิ้นน้อยที่สุด

มาจ้าวันนี้เรามีเคล็ดลับดีๆมาฝากกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการกินสับปะรดยังไงให้ส่งผลต่อลิ้นน้อยที่สุด ซึ่งปกติแล้วทุกคนคงจะทราบกันดีใช่มั้ยคะว่าเวลาที่เรากินสับปะรดเนี่ย เวลากินอะไรตามหลังเข้าไปรสชาติมันจะเฝื่อนๆใช่มั้ย แบบขนาดกินน้ำยังไม่อร่อยเลย วันนี้เรามีวิธีการกินสับปะรดยังไงให้กระทบลิ้นน้อยที่สุด ซึ่งก็มีทั้งหมด 4 ข้อด้วยกัน  เอาเป็นว่าไม่ขอพูดมากละกันนะคะ มันเจ็บคอ ลองไปดูวิธีการกินกันเลยค่ะ

1. แช่เย็น ถ้าลองสังเกตดีๆ จะพบว่าสับปะรดจากตู้เย็น กับสับปะรดที่ไม่มีความเย็น จะทำให้ลิ้นแสบแตกต่างกันมาก เนื่องจากเอนไซม์โบรมีเลนจะทำงานได้ดีในอุณหภูมิประมาณ 60 องศาเซลเซียส และจะทำงานน้อยลงในอุณหภูมิต่ำ การทานสับปะรดแช่เย็นจึงเป็นการลดความแสบลิ้นลงได้ แถมยังชื่นใจอีกด้วย

2. น้ำเกลือ จากงานวิจัยของนักวิจัยไทยในปี 2011 พบว่ากรดและเอนไซม์ในสับปะรดจะมีการทำงานที่อ่อนประสิทธิภาพลงเมื่อเจอเกลือ เพราะน้ำเกลือทำให้กรดลดลง โดยเฉลี่ยความเป็นกรดของสับปะรดจะอยู่ที่ pH 3.5 – 4 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงจนอันตรายต่อลิ้นของเรา แต่เมื่อมันรวมกับเอนไซม์โบรมีเลนก็เลยทำให้รู้สึกแสบ การแช่น้ำเกลือเพื่อลดกรดไม่ให้แสบเยอะก็ถือเป็นทางเลือกที่ดี แถมความเค็มจากเกลือยังจะช่วยขับให้ความหวานเด่นชัดมากยิ่งขึ้นด้วยนะ

3. ผ่านความร้อน ถึงแม้ว่าเอนไซม์โบรมีเลนจะไม่ชอบอุณหภูมิต่ำ แต่ถ้าสูงมากจนเกิน 80 องศาเซลเซียส มันก็ทนไม่ได้เหมือนกัน และจะสูญเสียความสามารถในการย่อยโปรตีนไปเลย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เราจะทานพิซซ่าหน้าฮาวายเอี้ยนได้ยาวๆ โดยไม่รู้สึกแสบลิ้นอะไรเลยยังไงล่ะ

4. ตัดแกน หลายคนชอบทานแกนสับปะรด เพราะมันกรุบกรอบ เคี้ยวมันเคี้ยวเพลิน แคลอรีก็ต่ำ แต่รู้มั้ยว่าเอนไซม์โบรมีเลนที่ย่อยเนื้อเยื่อลิ้นของเรามันมีมากที่บริเวณแกนสับปะรดนี่ล่ะ ตัดแกนทิ้งไป ทานแค่ช่วงเนื้อก็พอ