ย้อนอดีต 5 เหตุการณ์ การช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในถ้ำและใต้ดิน


ย้อนอดีต 5 เหตุการณ์ การช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในถ้ำและใต้ดิน(ชมคลิปท้ายข่าว)


ในขณะที่ภารกิจค้นหาทีมฟุตบอลหมู่ป่าอะคาเดมีแม่สาย 13 ชีวิต ที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน กำลังดำเนินไป ชวนย้อนมอง 5 เหตุการณ์การช่วยเหลือผู้ติดอยู่ในถ้ำและใต้ดินได้อย่างประสบความสำเร็จ
33 คนในเหมือง 69 วัน                                                                                                     เมื่อปี 2010 เหตุการณ์เหมืองถล่มในประเทศชิลีทำให้มีคนงาน 33 คนติดอยู่เหมืองใต้ดินลึกราว 700 เมตร ความยากของปฏิบัติการในครั้งนี้ คือเจาะลงไปให้ถึงจุดที่เหยื่ออยู่โดยไม่ทำให้เหมืองถล่มซ้ำลงอีก17 วันหลังจากเหมืองถล่ม

จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม หรือ 17 วัน หลังเหมืองถล่ม พวกเขาส่งสัญญาณว่ายังมีชีวิตอยู่ดีผ่านการเขียนข้อความบนกระดาษที่ทีมช่วยเหลือผูกเชือกหย่อนลงไป พักอยู่ในส่วนที่เป็นห้องพักพิง ซึ่งหมายความว่าพวกเขายังมีชีวิตอยู่และมีอาหารกับน้ำพอประทังชีวิต
ในวันดังกล่าว เจ้าหน้าที่แจ้งว่าช่วงที่เกิดเหตุ มีคนงานทำงานอยู่ในเหมืองประมาณ 130 คน ในช่วงแรกสถานการณ์เต็มไปด้วยความสับสน เพราะไม่แน่ใจว่ามีคนติดอยู่ในเหมืองกี่คนกันแน่ และยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

ในที่สุด วันที่ 13 ตุลาคม 2553 หรือ 69 วัน หลังจากที่เหมืองถล่ม คนงานคนแรกได้รับการช่วยเหลือขึ้นมาได้สำเร็จ ซึ่งอุปกรณ์ที่นำพวกเขาขึ้นมาคือแคปซูลที่มีชื่อว่าฟีนิกซ์ เป็นแคปซูลที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 54 เซนติเมตร มีระบบออกซิเจนและลำโพงที่สามารถสื่อสารได้ โดยกองทัพเรือของชิลีร่วมมือกับองค์การนาซ่าของสหรัฐฯ ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ

คนงานทั้ง 33 คน ถูกนำตัวขึ้นมาครั้งละ 1 คน โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 22 ชั่วโมง 50 นาที ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงช่วงเวลา 69 วัน ที่คนงานทั้ง 33 คน ติดอยู่ในเหมืองใต้ดิน

ถ้ำที่ลึกที่สุดของเยอรมนี                                                                                                    เมื่อกลางปี 2014 โจฮานน์ เวสต์เฮาเซอร์ นักสำรวจวัย 52 ปีรอดชีวิตจากการติดอยู่ในถ้ำที่ลึกที่สุดของเยอรมนีซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศถึง 12 วัน ด้วยความช่วยเหลือจากคนถึง 728 คนจาก 5 ประเทศ และค่าใช้จ่ายหลายล้านยูโร

กระบวนการสำคัญของการช่วยเหลือในครั้งนี้เป็นการใช้ถ่วงน้ำหนักโดยระบบรอก โดยมีสมาชิกทีมกู้ภัยใช้น้ำหนักตัวเองขณะโรยตัวลงไปในการดึงเปลช่วยเหลือ ซึ่งหนักถึง 100 กิโลกรัม ของนายเวสเฮาเซอร์ขึ้นมา

สิ่งที่น่าสนใจคือปฏิบัติการช่วยเหลือในช่วง 180 เมตร สุดท้าย ไม่มีการใช้เครื่องจักรกลเข้ามาทุ่นแรงการฉุดดึงเปลหามบรรทุกเวสต์เฮาเซอร์น้ำหนัก 100 กิโลกรัม ขึ้นมาจากปากทางเข้าถ้ำ อุปกรณ์เพียงอย่างเดียวที่ใช้คือ รอกมือเท่านั้น

ปฏิบัติการช่วยเหลือในครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยและผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำเข้าร่วมทั้งหมด 728 คน ทั้งจากเยอรมนี อิตาลี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ โครเอเชียและอีกหลายประเทศ ใช้งบประมาณไปกว่า 96,000 ยูโร หรือกว่า 36 ล้านบาท ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายในถ้ำ ที่ใช้งบประมาณมากที่สุดบนหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศเยอรมนี

การช่วยเหลือเวสต์เฮาเซอร์เป็นการทำงานที่มีแรงกดดันสูงมากเนื่องจากเจ้าหน้าที่ทุกคนอยู่ในสถานการณ์บีบคั้นและต้องทำงานแข่งกับเวลา ท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่วนตำรวจเยอรมนีแก้ปัญหาด้วยการปิดปากทางเข้าถ้ำแห่งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยกับนักท่องเที่ยว หรือผู้คนที่อยากรู้อยากเห็นและเปิดให้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเข้าไปเท่านั้น
ไร้ออกซิเจนในถ้ำใต้ทะเล                                                                                                   เมื่อกลางปี 2017 ซิสโก กราเซีย ครูสอนภูมิศาสตร์ชาวสเปนวัย 54 ปี และเพื่อนคู่หูนักดำน้ำ ติดอยู่ในถ้ำใต้ทะเลที่เกาะมายอร์กาของสเปน นานถึง 60 ชั่วโมง หลังจากหาทางออกไม่เจอและได้ใช้ออกซิเจนที่เตรียมมาจนหมด กราเซียตัดสินใจรออยู่ในถ้ำที่มีช่องว่างเก็บอากาศเหนือน้ำอยู่

แล้วให้เพื่อนใช้ออกซิเจนที่เหลืออยู่กลับออกไปขอความช่วยเหลือ หลังจากเหนื่อยล้าและเกิดภาพหลอนเนื่องจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในถ้ำที่สูงถึง 5% เมื่อเทียบกับอากาศภายนอกที่มีเพียง 0.04% เขาเกือบตัดสินใจฆ่าตัวตายเพราะขาดอากาศหายใจและขาดอาหาร แต่ทีมช่วยเหลือก็สามารถกลับมาช่วยเขาไว้ได้ทัน

5 วันของพ่อและลูกชายทั้งสองคน                                                                                        เมื่อกลางปี 1990 แกรี วิลเลียม ลูทส์ นักสำรวจสมัครเล่นวัย 37 ปี กับลูกชายสองคน หลงทางและติดอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งในเขตเพ็นเดิลตัน ในรัฐเวสต์เวอร์จิเนียของสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 5 วันด้วยกันที่พวกเขาติดอยู่ในนั้น โดยพวกเขาบอกว่าใช้วิธีการอยู่นิ่ง ๆ เพื่อรักษาพลังงาน และท่องข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลเพื่อให้มีกำลังใจ

แรงงานเหมืองเกือบพัน                                                                                                          เกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง เป็นเห็นให้คนงานเหมืองราว 955 คน ติดอยู่ในใต้ดิน ขณะที่ยังไม่มีรายงานว่ามีคนงานเหมืองได้รับอันตรายแต่อย่างใด ขณะที่บริษัทกำลังลำเลียงอาหารและนำลงไปให้ รวมถึงพยายามใช้เครื่องปั่นกระแสไฟฟ้า เพื่อให้ระบบทุกอย่างกลับมาทำงานตามปกติ

แต่ทางโฆษกแจงว่า “เกิดปัญหาบางประการ” ทำให้ยังไม่สามารถจ่ายกระแสไฟได้ ทั้งนี้เหมืองดังกล่าวเป็นลักษณะเหมืองปิดมีทั้งหมด 23 ชั้น อยู่ลึกลงไปใต้ดินถึงหนึ่งกิโลเมตร ซึ่งขณะนี้คนงานติดอยู่เป็นเวลานานเกือบ 24 ชั่วโมงแล้ว