Home »
Uncategories »
เผย ‘หม้อข้าว’ นักโทษ เพียงวันละ 49 บาท ได้ทานอะไรกันบ้าง ?
เผย ‘หม้อข้าว’ นักโทษ เพียงวันละ 49 บาท ได้ทานอะไรกันบ้าง ?
เผย ‘หม้อข้าว’ นักโทษ เพียงวันละ 49 บาท ได้ทานอะไรกันบ้าง ?
ตาต่อตาฟันต่อฟัน มาตรการลงโทษเพื่อแก้แค้นให้สาสมกับความผิด
แนวคิดดังกล่าวทำให้ผู้คนในสังคมไทยเสพติดโทษจำคุกมาอย่างต่อเนื่อง
ส่งผลให้จำนวนนักโทษพุ่งทะยานเกิน 300,000 คน ตัวเลขล่าสุดในเดือนมิถุนายน
2561 ทะลุ 350,000 คนไปแล้ว
การขยายตัวอย่างต่อเนื่องทำให้เรือนจำทั่วประเทศประสบภาวะวิกฤติคนล้นคุก
หลายคนที่ฟังข่าวอาจสะใจลึกๆ เมื่อรับรู้ถึงความแออัดในเรือนจำ
แต่ยิ่งเราจับคนเข้าคุกมากเท่าไรคนข้างนอกก็ต้องเฉลี่ยกันแบกรับภาระในการเลี้ยงนักโทษ
งบประมาณค่าอาหารนักโทษที่รัฐต้องจ่ายในแต่ละปีไม่ใช่แค่ 1,000 หรือ 2,000
ล้านบาท แต่สูงเกินกว่า 3,300 ล้านบาท
สำนักงบประมาณอนุมัติค่าอาหารนักโทษ 49 บาทต่อคนต่อวัน ในที่นี้คือข้าว 3
มื้อ รวมก๊าซหุงต้ม เงิน 49 บาท ถ้าใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกแบบที่ว่าเขียมสุดๆ
คงกินได้ไม่ถึง 2 มื้อ
ทั้งนี้หากจะคำนวณด้วยหลักคุณค่าสารอาหารตามหลักโภชนาการ ต้องใช้เงินหัวละ
60-65 บาทต่อคนต่อวัน แต่เมื่อระบบงบประมาณของประเทศจัดให้ได้เท่านี้
นักโทษก็ต้องอยู่ให้ได้
กรณีที่เป็นนักโทษที่มีญาติพี่น้องมาเยี่ยมเป็นประจำก็ดีหน่อย
ยังพอมีของเยี่ยมและเงินฝากไว้ให้ซื้ออาหารจากร้านค้าสงเคราะห์ได้
โดยเรือนจำจะรับฝากเงินเข้าบัญชีได้ไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน
และอนุญาตให้ใช้คูปองซื้ออาหารได้วันละไม่เกิน 300 บาท จากตัวเลขค่าอาหาร
49 บาทต่อคนต่อวัน
เราจะมาส่องดูกันว่าค่าใช้จ่ายเท่านี้เรือนจำซื้ออะไรให้นักโทษได้บ้าง
ก่อนอื่นงบ 49 บาท ต้องหักค่าก๊าซหุงต้มหัวละ 2.50-3 บาท
เหลือเท่าไรจึงเป็นค่าอาหารที่เรือนจำได้รับจัดสรร วิธีการจะนำเงิน 46
บาทคูณ 365 วัน คูณด้วยจำนวนนักโทษของแต่ละเรือนจำ
จากนั้นเอาไปหักเป็นค่าข้าวสาร
โดยคำนวณว่านักโทษจะกินข้าวคนละ 400 กรัมต่อคนต่อวัน หรือคนละ 5
บาทต่อวัน หักค่าข้าวสารแล้วเหลือเท่าไรจึงเอามากำหนดเป็นเมนูอาหารคาว-หวาน
3 มื้อ โดยทุกเรือนจำจะกำหนดเมนูล่วงหน้าทั้งเดือน 30-31 วัน
แจ้งให้ผู้ประมูลส่งอาหารให้แต่ละเรือนจำรู้ว่าในแต่ละเดือนต้องจัดส่งผักและเนื้อสัตว์หมู
ไก่ ปลา
ในสัดส่วนอย่างละกี่กิโลกรัมให้เรือนจำคู่สัญญา
โดยระเบียบเรือนจำจะกำหนดให้ผู้ประมูลต้องส่งอาหารสดให้เรือนจำทุกวัน
ยกเว้นในเรือนจำห่างไกลอนุโลมให้จัดส่งอาหารสดได้ทุกๆ 2 วัน
สำหรับเมนูอาหารประจำเดือนจะติดประกาศให้นักโทษรู้ล่วงหน้าว่า
ตลอดทั้งเดือน 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น
พวกเขาจะได้กินอะไรกันบ้าง เช่น วันที่ 1 เช้าซุปไก่กับมันเทศ
กลางวันผัดถั่วงอกหมู-ไก่เต้าหู้แผ่น ข้าวต้ม เย็น
แกงเขียวหวานหมู-ไก่ฟักทอง วันที่ 2 ต้มจืดหมู-ไก่ลูกชิ้นวุ้นเส้นกะหล่ำปลี
กลางวันผักกาดหวานหั่น-ข้าวต้ม ผลไม้-มันแกว, ฝรั่งสด เย็นแกงคั่วปลาเบญจฯ
ฟักเขียว น้ำพริกปลาทูสด-แตงกวา
วันที่ 30 เช้าต้มข่าไก่ฟักเขียว
กลางวันผัดวุ้นเส้นใส่ไข่กล่ำปลี-ข้าวต้ม เย็นเกาเหลาหมู-ไก่ตุ๋นใส่ลูกชิ้น
ถั่วงอก ผักบุ้งจีน เต้าเจี้ยวหลน-แตงร้าน
เมนูอาหารของเรือนจำจะเน้นหนักไปในมื้อเช้าและมื้อเย็น
เพราะนักโทษต้องถูกเก็บเข้าเรือนนอนตั้งแต่บ่าย 3
รอจนกระทั่งฟ้าสางประตูเรือนนอนจึงจะเปิดอีกครั้ง
อาหารเช้าและเย็นจึงมีความสำคัญ ต้องจัดให้หนักท้องไว้ก่อน
เนื่องจากนักโทษจะถูกเก็บเข้าเรือนนอนเกือบ 15 ชั่วโมงต่อวัน
เช้าจะมีกับข้าว 1 อย่าง ส่วนมื้อกลางวันมักจะเป็นเมนูข้าวต้ม
หรืออาหารกินรองเท้าเบาๆ
ส่วนมื้อเย็นจะเพิ่มให้มีน้ำพริก-ผักจิ้มเป็นเมนูเสริม
สำหรับผลไม้หรือของหวานล้างปาก ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารนักโทษ
โดยในงบประมาณ 49 บาทต่อคนต่อวัน จะแบ่งเป็นค่าขนม 1.50 บาท
หลังส่องเข้าไปถึงเมนูอาหารนักโทษก็ถือว่าพอได้ไม่ตกเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดโดยยูเอ็น
แต่ปัญหาที่แท้จริงเรือนจำต้องแบกรับคืองบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ตลอด 5
ปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องไปถึงปีงบประมาณ 2562 สำนักงบฯ
อนุมัติเงินจัดซื้ออาหารนักโทษ
ภายใต้หลักคิดแบบขี้เหนียวขี้ตืด มองว่านักโทษเข้าๆ ออกๆ
ทุกวันทำให้คำนวณค่าใช้จ่ายที่แท้จริงได้ยาก จึงตรึงจำนวนรายหัวไว้ที่
190,200 คนต่อปี ทั้งที่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
ไม่มีวันใดเลยที่จำนวนนักโทษในเรือนจำจะน้อยกว่า 200,000 คน
ตัวเลขจริงทะลุเกิน 300,000 คน ในเดือนมิถุนายน 2561 ขยับเกิน 350,000 คน
ในทางปฏิบัติงบค่าอาหารจึงใช้จ่ายอยู่ได้เพียง 5 เดือน
นับจากเริ่มต้นปีงบประมาณเดือนตุลาคมมาถึงเมษายน
หลังจากนั้นเรือนจำจะเริ่มติดหนี้ เดือนละ 400 ล้านบาท หรือไม่ต่ำกว่า
1,600 ล้านบาท เป็นอย่างนี้ทุกปีซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เกิดคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงบริหารงบประมาณแบบนี้
เพราะการจัดสรรงบประมาณจริงตรงตามรายหัวของนักโทษ 350,000 คน
จะส่งผลให้งบประมาณของกระทรวงยุติธรรมปูดขึ้นมหาศาล จากที่ตั้งไว้ 3,300
ล้านบาทเศษ หาก คูณตามจำนวนจริงของนักโทษค่าใช้จ่ายจะตกอยู่ที่ 17.1
ล้านบาทต่อวัน หรือกว่า 6,200 ล้านบาทต่อปี
วิธีการจึงต้องคงความเป็นหนี้ไว้ แล้วกินไปเรื่อยๆ เป็นหนี้ไปเรื่อยๆ
โยนภาระการบริหารสายป่านไปให้ผู้ประมูลส่งอาหาร ถ้าเอกชนทวงหนี้หนักขึ้น
ก็จะจัดสรรงบกลางมาต่อลมหายใจ เคลียร์หนี้เป็นคราวๆ ไป
ในอดีตวิธีการดังกล่าวพอทำได้เพราะราชทัณฑ์ใช้วิธีประมูลวิธีพิเศษ
จัดซื้ออาหารข้าวสารและอาหารสดจากองค์การตลาด องค์การคลังสินค้า
ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการ ข้อดีคือไม่ว่าจะเกิดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม
ข้าวยากหมากแพง
หรือการคงค้างหนี้อย่างไรก็ต้องมีอาหารส่งเรือนจำทุกวันขาดไม่ได้แม้แต่มื้อเดียว
แต่การประมูลด้วยวิธีพิเศษ ถูกท้วงติงมาตลอดว่าเป็นการผูกขาด
ทำให้ประมูลได้ราคาแพงใกล้เคียงกับราคากลาง
เมื่อเปลี่ยนระบบการประมูลมาเป็นอีบิดิ้ง (E-Bidding) เปิดเสรีแข่งขัน
ข้อดีทำให้ได้ราคาถูก แข่งขันสู้ราคากันดุเดือด
เปิดซองประมูลได้ราคาต่ำกว่าราคากลาง 30-40%
แต่ก็ยังคงมีปัญหาตามมาจากข้อจำกัดของงบประมาณ
ทำให้ผู้ประมูลต้องสำรองจ่ายค่าอาหารตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนกันยายน
เมื่อได้รับงบก้อนใหม่ก็จะได้เคลียร์หนี้เก่า
แล้วเริ่มแบกรับหนี้ต่อไปในปีหน้า
ผู้ประมูลรายใดไปต่อไม่ไหวทิ้งงานจะถือว่าผิดสัญญา ต้องถูกยึดเงินประกัน
ติดแบล็กลิสต์ห้ามเข้ามาเป็นคู่สัญญาประมูลงานกับหน่วยงานภาครัฐ
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าผู้ประมูลจึงต้องไปกู้เงินมาจัดซื้ออาหารเพื่อบริหารสัญญา
ปีนี้เป็นปีสุดท้ายที่มีข้าวในโครงการรับจำนำให้เรือนจำจัดซื้อได้กิโลกรัมละ
12.40 บาท แต่หลังจากนี้ข้าวที่รับจำนำไว้มีกลิ่นเหม็นหืน
จนไม่สามารถนำมาปรับปรุงสภาพเพื่อขายเป็นอาหารคนได้อีกแล้ว
จึงต้องตามลุ้นกันต่อไปว่าราคาข้าวในปีต่อๆ ไป จะปรับขึ้นอย่างไร
งบต่อหัวต่อคน 49 บาท จะตรึงอยู่หรือไม่
ทั้งหมดนี้เป็นโจทก์ใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาคนล้นคุกเพื่อไม่ให้คนที่ควรจะทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้
ไม่ต้องรับโทษจำคุกและตกเป็นภาระของชาติ