เขื่อนลาวปล่อยน้ำ ที่หนองคาย น้ำโขงแล้งแห้งราวทะเลทราย ปลา-กุ้งไม่รอดสักชีวิต

แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของน้ำแข็งและหิมะบริเวณที่ราบสูงทิเบตในบริเวณตอนเหนือของประเทศทิเบตและบริเวณมณฑลชิงไห่ของประเทศจีน

ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำที่สำคัญอีก 2 สาย คือ แม่น้ำแยงซี และแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำโขงช่วงที่ไหลผ่านประเทศจีนชาวจีนเรียกว่า “แม่น้ำหลานชางเจียง” (Lancang Jiang) ไหลผ่านภูเขาและที่ราบสูงในประเทศจีน

ผ่านมณฑลยูนนานเข้าสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ และประเทศไทย

บริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ผ่านจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

เป็นระยะทาง 1,520 กิโลเมตร แล้วไหลเข้าสู่ สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม รวมความยาวทั้งสิ้น 4,880 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำในลุ่มน้ำ 795,000 ตารางกิโลเมตร หรือ 496.875 ล้านไร่

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา (สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน) คณะมนุษยศาสาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นักวิชาการที่คลุกคลี

และช่วยเหลือปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจากรัฐ และทุน รายงานสถานการณ์ในแม่น้ำโขง ที่กำลังประสบปัญหา ความว่า แม่น้ำโขงวิบัติ ภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

แม่น้ำโขง ที่บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ปกติแล้ว ยามนี้เป็นช่วงเข้าพรรษา ลำน้ำโขงจะมีน้ำเต็ม กกไคร่จะเขียวขจีและค่อยๆจมอยู่ใต้น้ำให้เป็นที่วางไข่ของปลา และมีผลและใบให้ปลากินเป็นอาหาร เช่นเดียวกับแก่งหินที่เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์น้ำเช่น กุ้ง

แต่ไม่กี่วันมานี้ เมื่อเขื่อนไซยะบุรีสร้างแสร็จและเตรียมทดสอบผลิตไฟฟ้า น้ำโขงเริ่มลดลง และหลายที่แห้งผาก ที่บ้านม่วง ท้องน้ำแตกระแหงกว้างไกล

และร้อนระอุราวกับทะเลทราย สัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น กุ้ง และลูกปลาที่คาดว่าพ่อแม่ของมันเพิ่งวางไข่และผสมพันธุ์ ไม่มีโอกาสที่จะสืบทอดเผ่าพันธุ์ ตามซอกหินที่เคยมีน้ำและหลบซ่อนตัวกลายเป็นสุสานของสัตว์เหล่านั้น

เมื่อบวกกับความร้อนระอุที่สะสมในแก่งหิน มันก็สุกจนดูเหมือนมันถูกปิ้งย่างบนเตา

ขณะที่ต้นไคร่เหลือแต่ซากต้นและกิ่งก้านเหยียดขึ้นฟ้าให้แดดแผดเผา ปลาขนาดใหญ่อาจโชคดีที่เอาตัวรอดได้

แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่รอดจากผู้คนที่แห่แหนกันมาจับเพราะจับได้ง่ายเนื่องจากน้ำโขงลดระดับมาก นั่นเท่ากับว่าเราสูญเสียทั้งระบบนิเวศน์ ตัวอ่อนของสัตว์น้ำ และพ่อแม่พันธุ์ ในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มันคือการฆาตกรรมสรรพชีวิต

แต่นี่เป็นเพียงปฐมบทของเขื่อนขนาดใหญ่ที่กั้นลำแม่น้ำโขงสายหลักแห่งแรก และมันยังไม่จบเท่านี้ เพราะเดือนตุลาคมที่จะถึง เขื่อนแห่งนี้จะผลิตกระแสไฟเต็มกำลัง

อยากให้รู้กันด้วยว่าเขื่อนแห่งนี้สร้างโดยทุนไทย ได้เงินกู้จากสถาบันการเงินของไทย 6 แห่ง และไฟฟ้าร้อยละ 95 ที่ผลิตได้จากเขื่อนแห่งนี้จะส่งมาขายประเทศไทย

ต่อมา อ.ไชยณรงค์ ระบุต่อว่า วันนี้ พบปลาในแม่น้ำโขง ที่บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งอยู่ท้ายเขื่อนไซะบุรีเสียหายเพิ่ม เนื่องจากน้ำลดลงอย่างมาก ปลาที่หนีลงที่ลึกไม่ทันก็หนีลงไปตามแอ่งน้ำ ขณะที่รอบๆ มีแต่ทรายที่ร้อนระอุ ทำให้เหมือนปลาถูกต้มอยู่ในหม้อน้ำร้อนขนาดใหญ่

นี่คือภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาครั้งร้ายแรงในอนุถูมิถาคลุ่มน้ำโขง

ที่มา ข่าวสด