เตรียมออกประกาศราชกิจจาฯ กำหนดมาตรฐาน “เพาเวอร์แบงค์”

สมอ. เดินหน้าออกกฎหมายบังคับใช้มาตรฐาน 'เพาเวอร์แบงค์' หรือ 'แบตเตอรี่ สำรอง' ครอบคลุมสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต อุปกรณ์จ่ายไฟสำรอง หลัง กมอ. เห็นชอบให้ปรับปรุงขอบข่ายมาตรฐาน ตามความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน

นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ว่า กมอ. เห็นชอบให้ปรับปรุงขอบข่ายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้า หรือ เพาเวอร์แบงค์ สำหรับการใช้งานแบบพกพา – คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มาตรฐานเลขที่ มอก.2879 – 25XX หรือมาตรฐาน Power Bank ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิชาการ รายสาขา คณะที่ 999/2 ที่ได้พิจารณาข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับมาตรฐานดังกล่าว

หลังจากที่ สมอ. ได้ประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นร่างมาตรฐาน โดยหมดเขตรับข้อคิดเห็นตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ซึ่ง กมอ. ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดให้ Power Bank ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งนี้ สมอ. จะดำเนินการประกาศมาตรฐานในราชกิจจานุเบกษา และดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องเป็นไปตามมาตรฐาน และมีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ทำ และผู้นำเข้าจะต้องมาขออนุญาตทำหรือนำเข้ากับ สมอ. รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตและมีเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. รับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์แล้วเท่านั้น หากฝ่าฝืนต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนด 

โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำรองสำหรับการใช้งานแบบพกพา มอก.2879 – 25XX ดังกล่าว ครอบคลุมผลิตภัณฑ์เพาเวอร์แบงค์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นอย่างแพร่หลาย เช่น สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และใช้เป็นอุปกรณ์จ่ายไฟสำรองที่สามารถใช้กับอุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ ซึ่งหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันความเสียหายอันอาจจะเกิดแก่อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ตาม มอก. 2879 – 25XX ได้กำหนดให้ทดสอบแบตเตอรี่ที่ใช้ใน เพาเวอร์แบงค์ต้องมีความปลอดภัยตาม มอก.2217-2548 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเซลล์และแบตเตอรี่ทุติยภูมิที่มีอิเล็กโทรไลต์ แอลคาไลน์ หรืออิเล็กโทรไลต์อื่นที่ไม่ใช่กรดสำหรับการใช้งานแบบพกพา เฉพาะด้านความปลอดภัย และเมื่อประกอบเป็นเพาเวอร์แบงค์เรียบร้อยแล้วให้ทดสอบตาม มอก.1561-2556 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ – ความปลอดภัย เล่ม 1 คุณลักษณะที่ต้องการทั่วไป

นอกจากนี้ ผู้ทำ ผู้นำเข้าจะต้องแนบคู่มือข้อแนะนำการใช้งานมากับผลิตภัณฑ์ รวมถึงแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ เช่น ชื่อผู้ทำหรือผู้จัดจำหน่าย แรงดันไฟฟ้า ความจุไฟฟ้าที่กำหนด และเดือน/ปีที่ผลิตด้วย

ข่าวจาก voicetv