บอกต่อ!! 10 สมุนไพร ที่ช่วยลดอาการปวดฟัน ฟันผุ

อาการปวดฟัน ส่วนใหญ่มีผลมาจากฟันผุ ซึ่งในระยะเริ่มแรกจะมีลักษณะเสียวฟัน ก่อนที่อาการปวดจะลามไปที่บริเวณใต้คางและศีรษะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกินของเย็น ของร้อน หรือของหวาน เพราะจะเป็นการกระตุ้นให้แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปาก ปล่อยกรดออกมาทำลายสารเคลือบฟัน และชอนไชเข้าไปจนถึงเนื้อเยื่อส่วนที่นิ่มภายใน ซึ่งมีเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก บวกกับในโพรงประสาทฟันมีเนื้อที่จำกัด จึงทำให้เกิดการอักเสบและบวม
 
     เมื่อเกิดอาการบวม จะทำให้เส้นประสาทถูกกด รวมทั้งเกิดการปิดกั้นช่องทางเปิดปลายรากฟัน ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก จึงไม่สามารถนำออกซิเจนมาเลี้ยงฟันได้ จนทำให้เกิดอาการปวดฟันที่รุนแรง และในที่สุดเนื้อฟันก็จะตาย เมื่อถึงตอนนั้นอาการปวดก็จะหายไป อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นหนองบริเวณปลายรากฟันอาการปวดอาจกลับมาอีก แต่ลักษณะการปวดจะเป็นแบบตื้อๆ และสามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจนขึ้น

    
 นอกจากนี้ อาการปวดฟันอาจเกิดจากวัสดุอุดฟันหลุดไป ฟันร้าวหรือแตกจนถึงชั้นเนื้อฟันและโพรงประสาทฟัน การนอนกัดฟัน (bruxism) ปวดเนื่องจากมีฟันคุด และเหงือกอักเสบ (gingivitis) ซึ่งจะทำให้เหงือกร่น และรากฟันบางส่วนโผล่ขึ้นมา ส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟันและปวดฟันได้ แต่บางคนที่มีสุขภาพฟันดี ก็อาจมีความไวมากเป็นพิเศษ ต่อของร้อนหรือของเย็นได้

วิธีลดอาการปวดฟัน
1. ถ้าคุณอยากหายทรมานจากอาการปวดฟันแล้วล่ะก็ ลองปฏิบัติตามคำแนะนำง่ายๆ  เมื่อมีอาการปวดฟัน ให้ประคบด้านข้างของใบหน้าซีกที่ปวดฟันด้วยน้ำอุ่น

2. ในกรณีที่อาการปวดฟันมีลักษณะปวดตุบๆ ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ ให้ประคบที่ด้านข้างของใบหน้าด้วยน้ำแข็งประมาณ 5-10 นาที ทุกๆ ครึ่งชั่วโมง ความเย็นจะช่วยลดทั้งอาการปวดและบวม

3. ถ้ามีอาการเสียวฟันง่าย ให้ใช้โซดาไฟ หรือแปรงฟันด้วยยาสีฟันสูตรสำหรับแก้เสียวฟัน

4. เมื่อต้องอยู่ในที่ที่อากาศเย็น หรือในช่วงฤดูหนาว สามารถป้องกันอาการเสียวฟัน หรืออาการปวดฟันจากอากาศเย็นได้ โดยปิดปากด้วยผ้าพันคอ

5. เลี่ยงอาหารที่ร้อนจัด เย็นจัด และหวานจัด โดยเฉพาะชา กาแฟ และไอศกรีม เพราะจะยิ่งกระตุ้นให้มีอาการ งดอาหารที่แข็งจนต้องใช้วิธีกัดกิน เช่น แครอท แอปเปิ้ล ฝรั่ง ที่ยังไม่สุก เพราะการขบกัดฟันแรงๆ กับวัตถุแข็งๆ จะกระตุ้นให้เกิดอาการปวดฟัน และในกรณีที่อุดฟัน ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะจะทำให้สารที่อุดฟันไว้ หลุดออกมาง่ายขึ้น


นวดกดจุด ลดอาการปวด
      หลายคนคงคุ้นเคยกับการนวดกดจุดตามร่างกาย ทั้งฝ่าเท้า ฝ่ามือ และศีรษะดีแล้วใช่ไหมคะ คราวนี้เราลองมานวดกดจุด เพื่อบรรเทาอาการปวดฟันกันดีกว่า

1. นวดคลึงเบาๆ ที่แก้มบริเวณเหนือฟันที่ปวด จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ชั่วคราว

2. ใช้น้ำแข็งก้อนเล็กๆ กดและถูบริเวณง่ามมือ ระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ หรือใช้มืออีกข้างนวดบริเวณเดียวกันนี้ จะช่วยลดอาการปวดฟันได้ชั่วคราว

3. สำหรับคนที่ปวดบริเวณกรามล่าง ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือนวดบริเวณกระดูกขากรรไกรที่รองรับฟันล่าง ส่วนคนที่ปวดบริเวณกรามบน ให้วางนิ้วหัวแม่มือตรงบริเวณส่วนกลางของหู แล้วลากนิ้วไปทางด้านหน้า จนกระทั่งถึงรอยบุ๋มใต้กระดูกประมาณ 1 นิ้วบริเวณหน้าใบหู จากนั้นกดแรงๆ ประมาณ 10 นาที

สมุนไพรบรรเทาปวด
     บางคนพึ่งยาสารพัดชนิด ทั้งกิน ทั้งทา แต่พอหมดฤทธิ์ยาแล้ว อาการปวดฟันก็กลับมาสำแดงเดชอีกครั้ง ลองมาสยบอาการปวด ด้วยฤทธิ์ยาทางธรรมชาติของสมุนไพรเหล่านี้ดีกว่าค่ะ



1. ว่านหางจระเข้ มีสรรพคุณในการทำลายเชื้อโรค และสลายพิษ (Neutralization) ของเชื้อโรค โดยหั่นว่านหางจระเข้เป็นชิ้นๆ ความยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เหน็บไว้ที่ซอกฟัน ใช้ฟันขบให้อยู่บริเวณที่ปวด หรือใช้ไม้พันสำลีจุ่มน้ำวุ้นว่านหางจระเข้ ป้ายตรงบริเวณที่ปวด จะช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราว

2. น้ำมันละหุ่ง ทาน้ำมันละหุ่งบริเวณแก้มข้างที่ปวดฟัน และใช้พลาสเตอร์ยาปิดไว้ แล้วใช้ผ้าขนหนูอุ่นๆ หรือแผ่นประคบบริเวณที่มีอาการปวด จากนั้นนอนพักอย่างน้อย 20 นาที น้ำมันละหุ่งมีสรรพคุณในการระงับปวดได้ดี โดยจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ที่ไปคั่งอยู่กับเชื้อจุลินทรีย์ ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อ หรือกับสารที่ทำให้เกิดอาการปวด เช่น ไซโตไคเนส (cytokines) ในกรณีที่ปวดรากฟัน


3. น้ำมันกานพลู มีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดฟันได้ดีที่สุดชนิดหนึ่ง บางครั้งหมอฟันจะใช้น้ำมันกานพลูแทนยาที่มีฤทธิ์แรงกว่า เช่น Novocain โดยทาน้ำมันกานพลูบริเวณที่ปวดในช่องปากได้โดยตรง (หากน้ำมันกานพลูเข้มข้นเกินไป อาจทำให้เจือจางด้วยการผสมน้ำมันมะกอก) นอกจากนี้ อาจใช้วิธีอมกานพลูทั้งชิ้นไว้ในปากบริเวณที่ปวดก็ได้ จะทำให้รู้สึกชาอย่างรวดเร็ว และอยู่นานกว่า 90 นาที หรือนำดอกกานพลูมาทุบแช่น้ำเหล้าขาว แล้วใช้สำลีอุดฟันซี่ที่ปวด

4. น้ำมันกระเทียม ที่มีประโยชน์อย่างมากมาย นั้นก็สามารถนำมาใช้ลดอาการปวดฟันได้เช่นกัน โดยใช้สำลีชุบน้ำมันกระเทียมทาบริเวณที่ปวดฟัน จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้เหมือนกัน



5. ดาวเรือง ดอกดาวเรืองที่เราคุ้นเคยกันดีที่ใช้ในพิธีต่างๆ สามารถลดอาการปวดฟันได้โดย ใช้ดอกแห้งประมาณ 7-8 ดอก ต้มกับน้ำสะอาดในประมาณที่พอเหมาะ ดื่มเป็นน้ำสมุนไพรทั้งวัน เพื่อแก้อาการปวดฟัน


6. ผักบุ้งนาที่เรานิยมนำมารับประทานเป็นผักเคียงกับอาหารอีสานจำพวกส้มตำ สามารถช่วยบรรเทาอาการแก้ปวดฟันได้ โดยการนำรากสดของผักบุ้งนาประมาณ 10 กรัม ตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาแต่น้ำ ผสมกับน้ำส้มสายชู อมไว้ประมาณ 5 นาที แล้วบ้วนออกด้วยน้ำสะอาด จะรู้สึกได้เลยล่ะว่าอาการปวดฟันลดลง



7. มะระ มะระจะมีฤทธิ์เย็นช่วยขับร้อนแล้ว ก็ยังสามารถนำรากมาใช้รักษาอาการปวดฟันได้โดยนำรากสดของมะระมาตำพอแหลก แล้วพอกฟันซี่ที่ปวด โดยใช้ลิ้นกดไว้สักครู่ใหญ่ๆ


8. กุยช่าย ในกรณีที่ปวดฟันเพราะแมงกิน ฟัน ให้นำเมล็ดกุยช่ายมาคั่วให้เกรียมดำ จากนั้นนำมาบดให้ละเอียด ละลายน้ำมันยางแล้วชุบสำลี ยัดในฟันที่เป็นรูโพรง ทิ้งไว้ 1 คืน จะบรรเทาอาการปวดฟันและช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ได้


9. ข่อย โดยใช้เปลือกต้นสด ขนาดประมาณ 1 ขีด สับเป็นชิ้น ต้มกับน้ำพอสมควร ใส่เกลือให้มีรสเค็มเล็กน้อย ต้มนาน 10-15 นาที เอาน้ำขณะที่ยังอุ่น ๆ มาอมบ่อย ๆ จะช่วยคลาย และหายจากอาการปวดฟัน


10. ใบชา
ใบชามีคุณสมบัติที่ไม่ควรมองข้ามนั่นก็คือช่วยลดการอักเสบและลดอาการเหงือกบวม จึงเหมาะจะนำมาใช้บรรเทาอาการปวดฟันอย่างยิ่ง เพียงนำใบชาแห้งไปแช่ในน้ำร้อนประมาณ 20 นาที แล้วรอจนกว่าน้ำชาจะเริ่มอุ่น จากนั้นนำมาบ้วนปากบ่อย ๆ จะช่วยให้ปวดฟันลดน้อยลง แต่อย่าลืมบ้วนน้ำสะอาดตามนะ เพราะน้ำชาอาจทำให้เกิดคราบหินปูนได้

Tip
1. เมื่อใช้ยาสมุนไพรจนอาการปวดฟันบรรเทาแล้ว ควรไปพบทันตแพทย์
2. ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินบดอุดบริเวณฟันที่ปวด เพราะจะทำให้เกิดแผลไหม้ที่เหงือก และเป็นอันตรายต่อเคลือบฟันได้
3. ถ้ามีอาการปวดบวมเมื่อเคี้ยวอาหาร หรือเหงือกแดงผิดปกติ มีเลือดออก แสดงว่าติดเชื้อ หรือถ้าปวดฟันและมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันไม่ให้ฟันผุ ก็คือ
– ควรแปรงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (เช้าและก่อนนอน) และใช้ไหมขัดฟัน เพื่อทำความสะอาดซอกฟัน
– ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดการทานแป้ง น้ำตาล ลูกอม และขนมขบเคี้ยว
– เคี้ยวหมากฝรั่งที่มีส่วนผสมของ Xylitol เนื่องจากสารชนิดนี้มีส่วนช่วยในการป้องกันฟันผุได้
– ตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำสม่ำเสมอ
– ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อเสริมสร้างชั้นผิวเคลือบฟันให้แข็งแรง

นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 191 ,
www.kapook.com
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ