แนวทางการทำระบบน้ำหยด ในงบ 3,000 บาท ปลูกผักได้ตลอดทั้งปี

สำหรับเกษตรกร ปัญหา ดินไม่กักเก็บน้ำ ดินแห้ง ไม่อุ้มน้ำ เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ซึ่งยากจะแก้ปัญหาได้ แต่มันก็พอมีวิธีรับมืออยู่ กับการระบบน้ำหยด เพียงแค่นี้ก็มีน้ำตลอดฤดู ปลูกผักได้ตลอดทั้งปี วางระบบเองได้ง่ายๆ

หลักการก็ง่ายๆเลย คือ หากดินไม่อุ้มน้ำ แทนที่จะรดน้ำลงไปแล้วน้ำซึมลงสู่ใต้ดินหมดในระยะเวลาอันรวดเร็ว เพราะ ดินไม่กักเก็บน้ำ แล้งมาก หรือ น้ำระเหยเร็วเกินไป พืชก็ไม่ทันได้รับน้ำ หากเราปล่อยให้น้ำหยดลงไปเรื่อยๆจนดินชื้น พืชก็จะยังได้รับน้ำอยู่เรื่อย เพราะ ดินชุ่มน้ำตลอดเวลา

สาเหตุที่คิดค้นระบบน้ำหยดนี้ขึ้นมา เพราะบางพื้นที่การเพาะปลูกนั้นอยู่บนพื้นที่สูง น้ำไม่ไหลผ่านตามธรรมชาติ พอถึงเวลาฝนตกพื้นดินไม่อุ้มน้ำ เมื่อข้าสู่ฤดูแล้งมักจะขาดน้ำเป็นประจำ ทำให้ผืนดินแห้งแล้งเพาะปลูกอะไรได้ยาก แต่สำหรับระบบน้ำหยดนี้เราจะต่อท่อไปตามแนวแปลงปลูก และ หยดน้ำลงไปสู่หน้าดินโดยตรง

เราสามารถวางระบบน้ำหยดกำหนดจุดที่จะหยดน้ำให้ตรงกับจุดที่พืชเจริญเติบโตขึ้นก็ได้ ทำให้ดินบริเวณที่เพาะปลูกมีความชุ่มชื่นตลอดเวลา อีกทั้งเวลาเราจะใส่ปุ๋ยให้พืชเราไม่ต้องไปเดินให้ตามแปลง แค่ผสมลงไปในถังพักน้ำของระบบน้ำหยด แล้วน้ำที่เราหยดลงแปลงก็จะนำพาปุ๋ยไปเอง แก้ปัญหาดินแห้งแล้ง และ เพิ่มความสะดวกเวลาให้ปุ๋ยได้อีกด้วย

“ระบบสวนครัวน้ำหยดราคาประหยัดที่เราคิดกันขึ้นมานี้ เกิดจากแนวคิดให้เกษตรกรในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน เพื่อการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ทดลองใช้เป็นครั้งแรกที่ จ.มหาสารคาม ตั้งแต่ปี 2553 ปรากฏว่าได้ผลออกมาดีมาก ที่สำคัญสามารถประยุกต์ใช้ได้กับการปลูกพืชผักในแปลงทุกขนาด ทุกพื้นที่ ใช้น้ำน้อย ประหยัดต้นทุน การบำรุงรักษาง่าย อุปกรณ์หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป ด้วยเงินลงทุนแค่ไม่ถึง 3,000 บาท”

คุณธราวุฒิ ไก่แก้ว วิศวกรการเกษตรชำนาญการ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้อธิบายถึงข้อดีระบบสวนครัวน้ำหยด ทดลองแล้วในแปลงปลูกขนาดไม่เกิน 200 ตร.ม. กว้าง 10 ม.×ยาว 20 ม. ปลูกพืชระยะห่างระหว่างแถว 50 ซม.

ผลที่ได้คือพืชได้น้ำสม่ำเสมอ เพราะเป็นระบบให้น้ำเฉพาะราก ทั้งยังประหยัดแรงงาน เวลา การเปิดให้น้ำแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 10-30 นาที ทำให้ใช้น้ำน้อยแค่ 50 ลบ.ม. ต่อฤดูกาลผลิต (ระยะเวลา100 วัน) และประหยัดมากๆ ค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จ มีค่าน้ำ ค่าไฟสูบน้ำแค่ 200 บาท ต่อฤดูกาลผลิตเท่านั้นเอง

กรรมวิธีติดตั้งและทำระบบไม่ยากเย็น คนที่ไม่มีทักษะทางช่าง ทำได้สบายๆโดยเริ่มจากการวัดพื้นที่ตามความเหมาะสม เตรียมอุปกรณ์ ถังน้ำ 200 ลิตร ท่อพีวีซี วาล์วน้ำ ข้อต่อต่างๆ เทปน้ำหยด และอุปกรณ์ต่อพ่วง

เจาะรูก้นถังน้ำ 200 ลิตร ประมาณ 5 ซม. ติดตั้งทางน้ำออก นำข้อต่อพีวีซีเกลียวนอกพันด้วยเทปพันเกลียวขันเข้ารูให้แน่นสิทกันแล้วล็อกข้อต่อพีวีซีเกลียวนอก ต่อมาทำกานติดตั้งวาล์วท่อพีวีซี โดยติดตั้งชุดกรองน้ำเกษตร ให้หัวลูกศรที่ตัวกรองหันไปในทิศทางเดียวกับการไหลของน้ำ ติดตั้งท่อพีวีซีตามความกว้างของหัวแปลง นำถังตั้งบนที่สูงโดยให้สูงกว่าแปลงปลูก 1-2 เมตร จากนั้นเจาะท่อพีวีซีในตำแหน่งที่ต้องการวางสายเทปน้ำหยด ใส่ลูกยางกันรั่วในรูที่เจาะ

แล้วทำการติดตั้งข้อต่อเทปน้ำหยด เปิดน้ำไล่เศษตะกอนต่างๆออก ก่อนครอบฝาพีวีซีปิดปลายทั้งสองข้าง แล้วเสียบเทปน้ำหยดเข้ากับข้อต่อล็อกเทปให้แน่นโดยให้รูน้ำหยดหงายขึ้น ลองเปิดวาล์วทดสอบระบบ ขั้นตอนสุดท้ายพันปลายสายเทปน้ำหยดให้แน่น เป็นอันเสร็จสิ้นชาวเกษตรกรจะได้ระบบสวนครัวน้ำหยดราคาประหยัดแล้ว

สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ในการปลูกและมีเงินทุนมากพอ สามารถนำวิธีการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ให้พอเหมาะกับพื้นที่ได้ไม่ยาก แค่เพิ่มอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปตามสัดส่วนเท่านั้นค่ะ ส่วนใครที่อยากประหยัดพลังงาน หรืออยู่ในพื้นที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ก็สามารถพัฒนาต่อยอดนำระบบมอเตอร์สูบน้ำ โดยใช้พลังางานโซลร์เซลล์ มาให้เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกด้วย

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : postnoname