Home »
Uncategories »
9 วิธี ธรรมบำบัด รักษาโรค เยียวยาความเจ็บป่วย
9 วิธี ธรรมบำบัด รักษาโรค เยียวยาความเจ็บป่วย
ความเจ็บป่วยเป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของชีวิต ทุกๆ
คนต่างเคยเจ็บป่วยกันมาแล้วทั้งนั้น
และยังจะต้องพบกับความเจ็บป่วยอีกจนกว่าชีวิตจะหาไม่
เมื่อมีความเจ็บป่วยยาวนานหรือร้ายแรง นอกจากความเจ็บป่วยทางกาย
ผู้ป่วยอาจจะได้รับความทุกข์ทางใจ
นั่นก็เป็นเพราะว่าร่างกายกับจิตใจมีความสัมพันธ์กัน การใช้ ธรรมบำบัด
เพื่อเยียวยาความเจ็บป่วย อาจจะไม่มีผลต่อความเจ็บป่วยด้านร่างกายโดยตรง
แต่ส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจ เมื่อใจปกติสุข สงบนิ่ง สบาย
เมื่อนั้นก็จะส่งผลต่อร่างกายที่กำลังอ่อนแรง
เพราะเมื่ออวัยวะที่ทำงานผิดปกติกลับคืนสู่การทำงานตามธรรมชาติ
ก็จะสามารถเสริมสร้างภูมิต้าน
เพิ่มความเข้มแข็งพร้อมสู้กับความเจ็บป่วยต่างๆ วันนี้เราได้นำ 9
วิธี ธรรมบำบัด รักษาโรค เยียวยาความเจ็บป่วย มาฝาก ไปดูกันเลย…
1) สวดมนต์ เพื่อความสงบนิ่ง มั่นคง
อาจจะไม่บ่อยนักที่จะเห็นภาพคนไข้ลุกขึ้นมานั่งสวดมนต์
แต่การสวดมนต์ทุกเย็น วันละประมาณครึ่งชั่วโมงจะช่วยให้รู้สึกสบายใจ
โล่งโปร่ง ขณะที่สวดมนต์ ใจจะได้พักจากการคิดวิตกกังวลจากเรื่องต่างๆ
มาจดจ่ออยู่กับการสวดมนต์ ช่วยให้คลื่นสมองสงบ ลืมสิ่งที่เป็นไปชั่วคราว
2) อ่านหนังสือหรือฟังซีดีธรรมะ
ในปัจจุบัน มีสื่อจำนวนมากที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านธรรมะ
แต่เรียบเรียงด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายประกอบกับการยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม
ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติต่อได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น
การอ่านหนังสือหรือฟังซีดีธรรมะน่าจะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้เข้าถึงหลักธรรมได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมีสื่อธรรมะประเภทอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นตามการพัฒนาด้านเทคโนโลยี
เช่น วีซีดี ดีวีดี เป็นต้น
3) กิจกรรมเพื่อความสุขทางใจ
หลักคำสอนทางธรรมจะสัมฤทธิ์ผลให้เห็นได้จริงก็ต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติ
และเผื่อแผ่ผลบุญนั้นๆ ให้กับ บุคคลอื่นๆ
ที่กำลังประสบกับความยากลำบากหรือด้อยโอกาสกว่า เช่น การทำบุญ ตักบาตร
ถวายสังฆทาน บริจาคทาน หรือเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ
4) พิจารณาทุกอิริยาบถอย่างมีสติ
เป็นวิธีการเจริญสติที่สะดวกสบายที่สุด
เหมาะสำหรับบุคคลที่ไม่มีเวลาทำกิจกรรมต่างๆดังที่กล่าวมา เริ่มจากการดำรงสติ
สงบอยู่อิริยาบถใดก็ได้เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน สักพักหนึ่ง
เมื่อจะเริ่มเคลื่อนไหวตัวไปทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ หรือทำกิจกรรมต่างๆ
ก็ดำเนินไปอย่างมีสติรู้สึกตัว เช่นเมื่อกำลังจะเอื้อมมือไปหยิบสิ่งของ
ก็รู้ตัวกำลังยื่นมือออกไปหยิบหรือจับสิ่งของนั้นๆ แล้วหยิบเข้ามาหาตัว
กำลังจะลุกขึ้นจากที่นั่ง กำลังก้าวขา ซ้าย ขวา
หรือกำลังยกขาเพื่อก้าวขึ้นหรือลงบันได ฯลฯ
ไม่ว่าจะทำอะไรก็ควรจะมีสติและรับรู้ได้ถึงการกระทำนั้นๆ
เมื่อแรกฝึกอาจหลงลืมทำตามความเคยชินไปบ้าง
แต่เมื่อฝึกจนเกิดความคล่องตัว ชำนาญ
สามารถดำรงสติติดต่อกันไปพร้อมกับอริยาบถในชีวิตประจำวันได้ต่อเนื่องนานขึ้น
จะเกิดสมาธิในระดับที่สามารถพัฒนาปัญญาในทางธรรม สามารถพิจารณา
ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ ระลึกได้ถึงความผิดชอบ ชั่ว ดี กระตุ้นเตือนให้คิด ทำ
พูด ในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เผลอไปเบียดเบียนตนเองด้วยความเครียด
หรือเบียดเบียนคนอื่นให้เกิดความเดือดร้อน
5) ออกกำลังกายควบคู่กับการกำหนดลมหายใจ
ตัวอย่างเช่น โยคะ ไทเก๊ก พีลาทีส ฯลฯ
ที่กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ
ซึ่งนอกจากจะทำให้รูปร่างดีขึ้นแล้วยังทำให้จิตใจสงบลง
โดยหลักการสำคัญของการออกกำลังกายดังกล่าวคือการหายใจเข้าขณะที่ร่างกายหรือกล้ามเนื้อยืดออก
และหายใจออกขณะที่ร่างกายหดเข้า
ซึ่งเป็นเทคนิคการหายใจที่สัมพันธ์กันระหว่างกล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนเลือด
6) เดินจงกรม
การเดินเป็นเส้นตรงระยะเท่าที่ทำได้
หรืออาจเดินกลับไปกลับมาถ้าอยู่ในบริเวณจำกัด และขณะที่เดินนั้นก็มีสติ
รู้ตัว ทั่วพร้อมว่ากำลังยก ย่าง เหยียด เหยียบ
หรือหยัดส่วนประกอบของเท้าเช่นฝ่าเท้า ข้อเท้า
เวลายืนก็มีสติสัมผัสรู้ตัวว่า พื้นที่ยืนหรือเดินอยู่นั้น เย็น ร้อน
อ่อนหรือแข็ง เมื่อเดินเซก็รู้ตัวว่าเซ เมื่อเมื่อย เบื่อ หรืออยากนั่งพัก
หรือเผลอไปคิดเรื่องใด ก็มีสติตามรู้ความรู้สึกนั้นๆ
กระทำการทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ
อย่าฝืนจนกลายเป็นความรู้สึกเกร็งหรือบังคับร่างกาย
เมื่อเดินไปสักระยะเวลาหนึ่งก็จะเกิดสมาธิ ทำให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย
ไม่วิตกกังวลหรือฟุ้งซ่าน
7) สมาธิ หลักแห่งการผ่อนกาย คลายใจ
การนั่งสมาธิตามแต่วิธีที่ถนัดราวๆ วันละ 20 นาที
จะช่วยให้สมองเราปลอดโปร่ง สงบจิตใจได้ ไม่เครียด มีสมาธิ ความจำดีขึ้น
คิดอะไรได้ปลอดโปร่ง แถมยังผุดผ่องอีกด้วย แต่ทว่าการฝึกสมาธิช่วง 5
นาทีแรกอาจจะรู้สึกเบื่อ หงุดหงิด แต่ถ้าทำต่ออีก 5 นาทีหรือ 10 นาที
สมองซีกขวาจะเริ่มรู้สึกผ่อนคลาย ถ้าทำครบ 15 นาที
ร่างกายจะหลั่งสารสุขทำให้ร่างกายได้เยียวยาตัวเอง
ระหว่างการนั่งสมาธิควรจะตามรู้ลมหายใจเข้าออก
หรือที่เรียกว่าอานาปานสติ
หรือเพียงได้รู้สึกถึงลมหายใจออกติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
และอย่างสม่ำเสมอตามธรรมชาติ ไม่พยายามไปบังคับ กดข่ม หรือเผลอเพ่ง เช่น
ถ้าลืม เผลอ หรือแม้แต่ขณะที่นั่งหลับตานั้นได้เห็นรูป ได้ยินเสียง
ได้กลิ่น ได้รู้รส ก็มีสติตามรู้ว่าได้สัมผัสกับสิ่งนั้นๆ
และกลับมาพิจารณาลมหายใจเข้าออกต่อเนื่องไป ก็จะเกิดทั้งสติ สมาธิ และปัญญา
8) สนทนาธรรม
การสนทนากับผู้มีปัญญา หรือผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในทางธรรมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราเกิด
ปัญญาแยกแยะรู้ว่าสิ่งใดเป็นกุศลกรรม ทำให้ความดี ความสบายใจ
หรือสิ่งใดเป็นอกุศล หรือความชั่ว คือทำแล้วก่อให้เกิดการเบียดเบียน
หรือความไม่สบายใจทั้งแก่ตนเองและคนรอบข้าง จะได้ละเว้นเสีย
สิ่งใดเป็นกุศลธรรมความดีจะได้ตั้งใจทำให้มากขึ้น
และรู้เท่าทันความดีความชั่วทุกประการจะได้ไม่หลงเข้าใจผิด
9) ทางสายกลาง ข้อธรรมที่ไม่ควรหลงลืม
สิ่งสำคัญที่สุดคือความพอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป
ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินชีวิตปกติหรือแม้แต่การดำเนินตามหลักการทางธรรม
ถ้ามากหรือน้อยเกินไปย่อมส่งผลต่อการดำเนินชีวิตด้านอื่นเช่นกัน
รวมถึงการใช้ชีวิตสุดโต่ง ทั้งการรับประทานอาหารและการทำงาน
แม้จะเกิดมาจากความตั้งใจ
แต่ถ้าลืมนึกถึงความพอดีและความเหมาะสมกับร่างกายก็ย่อมไม่เป็นผลดี
ไม่ว่าคุณจะป่วยทางกายหรือทางใจ… ลองนำ
9 วิธี ธรรมบำบัดไปปรับใช้
แล้วจะพบว่าตัวของเราเองก็สามารถบำบัดได้เองภายใน
ขอให้เรารู้เท่าทันกายและใจ เพียงเท่านี้ ธรรมก็สามารถบำบัดได้ทุกสิ่ง
แชร์แบ่งปัน = ธรรมทาน
ธรรมบำบัด รักษาโรค เยียวยาความเจ็บป่วย