ดีขึ้นทันตา!! 10 วิธีใช้หนี้พ่อแม่ ทําแล้วชีวิตเจริญ สละเวลาสัก 1 นาที

เราไม่เคยรู้เลยว่าตั้งเเต่เล็กจนโตที่พ่อแม่เลี้ยงดูแลเอาใจใส่เราในทุก ๆ เรื่องนั้น ท่านเหนื่อยกับคนเป็นลูกมากขนาดไหน จนเราได้กลายมาเป็นพ่อคนแม่คน ถึงได้รู้ว่า บุญคุณพ่อแม่นั้นยิ่งใหญ่มหาศาลเหลือเกิน

พ่อแม่คือบุคคลสำคัญ เป็นต้นแบบของการสอนลูกทุกคนให้เติบโตมาเป็นคนดีที่สุด ไม่ว่าเราจะทำผิด เคยเถียง เคยโกหกพ่อแม่กันมา แต่คนที่พร้อมจะให้อภัยลูกและเข้าใจลูกดีที่สุดก็คือพ่อแม่ บุญคุณพ่อแม่ท่วมท้น ใช้หนี้พ่อแม่อย่างไรก็หมด 10 วิธีใช้หนี้พ่อแม่ ทําแล้วชีวิตเจริญ ที่จะปฏิบัติต่อท่านในชาตินี้ได้

10 วิธีใช้หนี้พ่อแม่ ทําแล้วชีวิตเจริญ

1.จงสร้างความดีให้กับตัวเอง ถือเป็นการใช้หนี้ตัวเอง ตัวเราพ่อให้หัวใจ แม่ให้น้ำเลือดน้ำเหลืองอยู่ในตัว ไม่ต้องไปแสวงหาพ่อแม่ที่ไหน หากคิดรังเกียจพ่อแม่ พอตัวเองแก่เฒ่าก็เลยถูกลูกหลานรังเกียจ เป็นกงกรรมกงเกวียนยืดเยื้อกันไป

2.ใครที่คุณแม่ล่วงลับไปแล้ว ให้หมั่นทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ด้วยการเจริญกรรมฐานแล้วอุทิศส่วนกุศลไป การทำเช่นนี้ถือว่าได้บุญมากที่สุดทั้งฝ่ายผู้ให้และผู้รับ

3.ผู้ใดก็ตามที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ หากมีโอกาสให้กลับไปไปกราบเท้าขอพรจากแม่ จะได้มั่งมีศรีสุข ส่วนคนที่เคยทำไม่ดีกับแม่ไว้ หากคิดได้ให้นำเทียนแพไปกราบขออโหสิกรรม ล้างเท้าให้ท่าน เป็นการขอขมาลาโทษ

4.อย่าคิดไม่ดีกับพ่อแม่ แค่คิดว่าพ่อแม่เราไม่ดีก็แย่แล้ว สิ่งที่ควรทำคือการถอนคำพูด ไปขอขมาลาโทษแล้วมาเจริญกรรมฐาน รับรองสำเร็จแน่ มรรคผลเกิดแน่

5.บางคนเถียงพ่อแม่ ลืมไปว่าคนที่เราใช้วาจาทำร้ายนี่คือพ่อแม่ สอนลูกหลานอย่าเถียงพ่อเถียงแม่ คนเถียงพ่อเถียงแม่เอาดีไม่ได้ อย่าคิดไม่ดีกับพ่อกับแม่ ไม่อย่างนั้นจะก้าวหน้าได้อย่างไร ก้าวถอยหลังดำน้ำไม่โผล่

6.คนที่มีบุญวาสนาจะกตัญญูกับพ่อแม่ คนคิดไม่ดีกับพ่อแม่ คิดไม่ดีกับครูบาอาจารย์ คิดไม่ดีกับญาติพี่น้อง ควรได้ขออโหสิกรรม ด้วยการเอาน้ำไปขันหนึ่ง เอาดอกมะลิโรย กล่าวขอขมา “กายกัมมัง วจีกัมมัง มโนกัมมัง โยโทโส อันว่าโทษทัณฑ์ใด ความผิดอันใด ที่ข้าพเจ้าพลั้งเผลอสติไป ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ขอให้คุณพ่อคุณแม่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย คุณพี่คุณน้อง อโหสิกรรมให้ด้วย” จากนั้นเอาน้ำรดมือรดเท้า

7.ชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้เป็นมงคลนามไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน เพราะชื่อเป็นเพียงนามสมมุติแทนตัวเราเท่านั้น

8.ของดีของพ่อแม่ ของปู่ย่าตายายที่มอบให้ด้วยความรักอย่าทำลาย แม้บางสิ่งอาจเป็นของไม่มีค่า พึงไว้เป็นที่ระลึกอย่าเอาไปทิ้งขว้าง พ่อแม่ให้อะไรให้เก็บไว้

9.โปรดจำไว้เมื่อแยกครอบครัวไปมีสามีภรรยาแล้ว อย่าลืมกลับไปหาพ่อแม่ ว่างเมื่อไหร่ต้องคิดไปไหว้พ่อแม่

10.อยากให้ชีวิตเจริญก้าวหน้าต้องมองดูว่าทำกุศลเพียงพอหรือเปล่า ต้องเพิ่มกุศล อานิสงส์ผลบุญนี้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง ชีวิตหน้าที่การงานเจริญก้าวหน้า เงินทองไหลมาเทมา แคล้วคลาดจากอุปสรรคทั้งปวง

เพราะ “พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก” พระพุทธศาสนาสอนให้เราเป็นคนกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา นำคำสอนไปใช้ให้ได้ผลดีชีวิตก็จะมีแต่เรื่องดี ๆ

ที่มา : คำสอนของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม (วัดอัมพวัน)

รักพ่อแม่ไม่ควรกล่าวโทษท่าน 5 เรื่องนี้

1. ไม่โทษพ่อแม่ว่าไร้ความสามารถ

ไม่มีใครที่เก่งไปทุกเรื่อง และไม่มีใครที่ทำทุกเรื่องได้สมบูรณ์ พ่อแม่คือผู้ให้ชีวิต ทุ่มเทเลี้ยงดูเราจบเติบใหญ่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อย่าต่อว่าพ่อแม่ว่า “สู้พ่อแม่ของคนอื่นก็ไม่ได้” คำพูดนี้ เมื่อพูดออกไป ต่อให้ม้าฝีเท้าไวก็วิ่งตามไปเก็บกลับคืนมาไม่ทัน แล้วมันจะกลายเป็นตราบาปในชีวิตคุณไปทั้งชีวิต

2. ไม่โทษพ่อแม่ว่าจู้จี้จุกจิก

พ่อแม่เกิดมาก่อนเรา มีประสบการณ์มากกว่าเรา อย่าตะคอกท่าน เมื่อท่านจ้ำจี้จำไชให้กินข้าว ให้ใส่เสื้อผ้าหนาๆ ให้ใส่หมวกกันน็อก ให้กลับบ้านเร็วๆ ให้เก็บห้อง ให้….ฯลฯ เพราะคนที่รักเราจริงเท่านั้นที่จะจู้จี้ในเรื่องนี้กับเรา พ่อแม่ไม่มีทางจู้จี้กับคนที่ไม่ใช่ลูกหลานของท่านแน่นอน หรือคุณว่าไม่จริง!

3. ไม่โทษพ่อแม่ที่ท่านบ่นว่า

ที่พ่อแม่บ่นว่า ก็เพราะเราทำไม่ได้ดี ที่บ่นว่าไม่ใช่เพื่อตัวท่านเองแต่เป็นเพราะเพื่อเรา ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่รักลูกของตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่อยากให้ลูกเจริญก้าวหน้ากว่าตนเอง ไม่มีพ่อแม่คนไหนที่ไม่อยากให้ลูกของตนเป็นอภิชาตบุตร ที่เก่งกล้าสามารถกว่าตนเอง

4. ไม่โทษพ่อแม่ว่าชักช้า

ยามพ่อแม่แก่เฒ่า อย่าด่าทอว่าท่านทำอะไรชักช้า หากเรายังไม่เคยเป็นพ่อแม่ เราไม่มีทางรู้เลยว่าคนเป็นพ่อแม่ต้องใช้ความรักความอดทนมากเพียงใดในการสอนให้เราเดิน สอนให้เรากิน สอนให้เราอาบน้ำ สอนให้เรา…ฯลฯ ยามที่ท่านหนุ่มสาว ท่านทุ่มกำลังแรงกายเพื่อพวกเรา มาบัดนี้ร่างกายจึงทรุดโทรม หากวันหนึ่งพ่อแม่แก่ชราลง กำลังวังชาเริ่มเสื่อมถอย จงจำไว้ “เห็นพ่อแม่ในวันนี้ ดุจเห็นตนเองในวันข้างหน้า” เรื่องกตัญญู ต้องรีบลงมือทำ

5. ไม่โทษพ่อแม่ยามท่านป่วยไข้

ไม่ว่าพ่อแม่จะยุ่งเพียงไร จะดึกดื่นเพียงไหน จะฝนตกแดดออกปานใด พอเราเจ็บไข้ท่านจะละทิ้งการงานในทันที ท่านจะพาเราไปหาหมอในทันที ท่านจะหาวิธีเยียวยารักษาเราในทันทียามที่ท่านป่วยไข้ เราทำเหมือนที่ท่านทำให้เราได้มากน้อยเท่าไหร่? หรือว่าเพราะพ่อแม่เจ็บป่วยนานวัน จึงทำให้ลูกไม่กตัญญูดูแลหรือ? หรือเราจะเป็นจำนวนคนที่สังคมตราหน้าว่าเป็นลูกอกตัญญูเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง

พ่อแม่ให้กายสังขารมา มิใช่ให้เรามาคอยกล่าวโทษท่าน

ในขณะที่เราโตขึ้น พ่อแม่ก็เริ่มแก่ชราลง จวบจนลาโลก ลาลูกหลานไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

ไม่มีพ่อแม่ก็ไม่มีเรา โทษกล่าวพ่อแม่ มิสู้เข้าใจพ่อแม่ หากแม้แต่พ่อแม่คุณยังให้อภัยไม่ได้ แล้วจะไปให้อภัยใครในโลกใบนี้ได้? ร้อยพันความดีงามความกตัญญูมาเป็นอันดับที่หนึ่ง เริ่มจากเวลานี้ วันนี้ อย่าได้โทษกล่าวพ่อแม่อีกต่อไป

..ทำบุญที่ไหน..มากมายเท่าใด..

..ก็ไม่เท่ากับการได้ดูแลพ่อแม่..

..กตัญญูเป็นมงคลชีวิตอันสูงสุด..

อย่าลืมดูแลพ่อแม่ตอนยังท่านมีชีวิตอยู่

ก่อนทีจะไขว่ขว้า..เมื่อสายเกินไป

พระคุณของพ่อแม่

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอุปมาว่า ถ้าบุตรจะพึงวางบิดามารดาไว้บนบ่าทั้งสองของตน ประคับประคองท่านอยู่ท้องฟ้าแทนกระดาษ ยอดเขาพระสุเมรุ แทนปากกา น้ำในมหาสมุทรแทนหมึก เขียนบรรยายคุณของพ่อแม่ จนท้องฟ้าเต็มไปด้วยอักษร ภูเขาสึกกร่อนจนหมด น้ำในมหาสมุทรเหือดแห้ง ก็ยังบรรยายคุณของพ่อแม่ไม่หมด

บิดามารดาเป็นผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ของบุตร สรุปโดยย่อคือ

๑. เป็นต้นแบบทางกาย แบบเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้ของทั้งหลาย ในโลกมีค่าสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ก้อนดินเหนียวธรรมดา ถ้าหากนำมาใส่แบบพิมพ์แล้วพิมพ์เป็นตุ๊กตา ก็ทำให้ดินก้อนนั้นมีค่าขึ้นมา เป็นเครื่องประดับบ้านเรือนได้ ดินเหนียวก้อนเดียวกันนี้ หากได้แบบที่ดีกว่าขึ้นมาอีก เช่นแบบเป็นพระพุทธรูป ดินเหนียวก้อนนี้ก็จะทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น ผู้คนได้กราบไหว้บูชา จะเห็นได้ว่า คุณค่าของดินเหนียวก้อนนี้ขึ้นอยู่กับแบบที่พิมพ์นั่นเอง

ในทำนองเดียวกัน การเกิดของสัตว์ เช่นเป็น ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ แม้จะมีปัญญาติดตัวมามากสักปานใดก็ไม่สามารถทำความดีได้เต็มที่ โชคดีที่เราได้เกิดเป็นคน ได้โครงร่างที่ประเสริฐกว่าสัตว์ทั้งหลาย เหมาะในการ ทำความดีทุกประการ เราจึงสามารถใช้ความรู้ความสามารถประกอบคุณความดีได้เต็มที่ ทั้งนี้ก็เพราะเรามีพ่อแม่เป็นต้นแบบทางกายให้นั่นเอง

๒. เป็นต้นแบบทางใจ ให้ความอุปการะเลี้ยงดู ฟูมฟัก ทะนุถนอม อบรมสั่งสอน ปลูกฝังกิริยามารยาท ให้ความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรมแก่ลูกพระคุณพ่อแม่ในการเป็นต้นแบบทางกายให้เรา ก็นับว่ามีมากเหลือหลายแล้ว ยิ่งท่านอบรมเลี้ยงดูเรามา เป็นต้นแบบทางใจให้ด้วย ก็ยิ่งมีพระคุณมากเป็นอเนกอนันต์

สมญานามของพ่อแม่

สมญานามของพ่อแม่นั้น กล่าวกันว่าท่านเป็นทั้ง(ลพรหมของลูก เทวดาคนแรกของลูก ครูคนแรกของลูก และเป็นพระอรหันต์ของลูก ซึ่งอธิบายได้ดังนี้

– พ่อแม่เป็นพรหมของลูก เพราะเหตุที่มีพรหมวิหารธรรม ๔ ประ-การ ได้แก่

๑. มีเมตตา คือมีความปรารถนาดีต่อลูกไม่มีที่สิ้นสุด

๒. มีกรุณา คือหวั่นใจในความทุกข์ของลูก และคอยช่วยเหลือเสมอไม่ทอดทิ้ง

๓. มีมุทิตา คือเมื่อลูกมีความสุขสบาย ก็มีความปลาบปลื้มยินดีด้วย ความจริงใจ

๔. มีอุเบกขา คือเมื่อลูกมีครอบครัวสามารถเลี้ยงตนเองได้แล้ว ก็ไม่วุ่นวายกับชีวิตครอบครัวลูกจนเกินงาม และหากลูกผิดพลาดก็ไม่ซ้ำเติม แต่กลับคอยเป็นที่ปรึกษาให้เมื่อลูกต้องการ

– พ่อแม่เป็นเทวดาคนแรก (บุรพเทพ) ของลูก เพราะคอยปกป้องคุ้มกันภัยเลี้ยงดูลูกมาก่อนผู้มีความปรารถนาดีคนอื่นๆ

– พ่อแม่เป็นครูวิสุทธิเทพของลูก เพราะมีคุณธรรม 4ประการ ได้แก่

๑. ไม่ถือสาในความผิดของลูก แม้ว่าบางครั้งจะพลาดพรั้งล่วงเกิน ก็ให้อภัยเสมอ

๒. ปรารถนาประโยชน์แก่ลูกเสมอ ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ก็ยังคงปรารถนา ให้ลูกดี มีความสุข

๓. เป็นทักขิเณยยบุคคล เป็นเนื้อนาบุญของลูก เป็นผู้ที่ลูกควรทำบัญต่อตัวท่าน

๔. เป็นอาหุเนยยบุคคล เป็นผู้ควรแก่การรับของคำนับ และการนมัสการของลูก

คุณธรรมของลูก

เมื่อพ่อแม่มีพระคุณมากมายปานนี้ ลูกจึงควรมีคุณธรรมต่อท่าน คุณธรรมของลูกเริ่มที่รู้จักคุณพ่อแม่ คือรู้ว่าท่านดีต่อเราอย่างไร สูงขึ้นไปอีก คือตอบแทนคุณท่าน ในทางพระพุทธศาสนา ได้บรรยายคุณธรรมของลูกไว้อย่างสั้นๆ แต่เก็บความไว้ได้อย่างครบถ้วน คือคำว่า กตัญญู กตเวที คุณค่าและศักดิ์ศรีของความเป็นลูกรวมอยู่ใน ๒ คำนี้

กตัญญู หมายถึง เห็นคุณค่าท่าน คือเห็นด้วยใจ ด้วยปัญญา ว่าท่านเป็นผู้มีพระคุณต่อเราอย่างแท้จริง ไม่ใช่สักแต่ว่าปากท่องพระคุณพ่อแม่ปาวๆ ไปเท่านั้น

คุณของพ่อแม่ดูได้จากอุปการะ คือประโยชน์ที่ท่านทำแก่เรามีอะไรบ้าง ที่แตกต่างจากคนอื่น ตามธรรมดาของคนทั่วๆ ไป เมื่อจะอุปการะใคร เขาต้องเห็นทางได้ เช่น เห็นหลักทรัพย์ หรือดูนิสัยใจคอ ต่อเมื่อแน่ใจแล้วว่าอุปการคุณ ของเขาจะไม่สูญเปล่า จึงลงมือช่วยเหลือ แต่ที่พ่อแม่อุปการะเรานั้น เป็นการอุปการะโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ ไม่ได้มองถึงหลักประกันใดๆ เลย เราเองก็เกิดมาตัวเปล่าไม่มีหลักทรัพย์แม้แต่เข็มเล่มเดียว ยังไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าอวัยวะร่างกาย จะใช้ได้ครบถ้วนหรือไม่ ยิ่งนิสัยใจคอแล้วยิ่งรู้ไม่ได้เอาทีเดียว โตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร จะเป็นคนอกตัญญูหรือไม่ ไม่รู้ทั้งนั้น หนังสือสัญญาการรับปากสักคำเดียวระหว่างเรากับท่านก็ไม่มี แต่ทั้งๆ ที่ไม่มี ท่านทั้งสองก็ได้โถมตัวเข้าช่วยเหลือเราจนสุดชีวิต ที่ยากจนก็ถึงกับกู้หนี้ยืมสินคนอื่นมาช่วย เรื่องเหล่านี้ต้องคิดดูด้วยเหตุผล อย่าสักแต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้น การพิจารณาให้เห็นคุณของพ่อแม่ด้วยใจอย่างนี้แหละเรียกว่า กตัญญู เป็นคุณธรรมเบื้องต้นของผู้เป็นลูก ยิ่งพิจารณาเห็นคุณท่านมากเท่าไร แสดงว่าใจของเราเริ่มใสและสว่างมากขึ้น เท่านั้น

กตเวที หมายถึง การทดแทนพระคุณของท่าน ซึ่งมีงานที่ต้องทำ ประการ คือ

๑. ประกาศคุณท่าน

๒. ตอบแทนคุณท่าน

การประกาศคุณท่าน หมายถึง การทำให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่มีคุณแก่เราอย่างไรบ้าง มากน้อยเพียงใด เรื่องนี้มีคนคิดทำอยู่มากเหมือนกัน แต่ส่วนมาก ไปทำตอนงานศพ คือเขียนประวัติสรรเสริญคุณพ่อแม่ในหนังสือแจก การกระทำเช่นนี้ก็ถูก แต่ถูกเพียงเปลือกนอกผิวเผินนัก ถ้าเป็นการกินผลไม้ก็แค่เคี้ยวเปลือกเท่านั้น ยังมีทำเลที่จะประกาศคุณพ่อแม่ที่สำคัญกว่านี้ คือที่ตัวเรานี่เอง

คนเราทุกคนคือตัวแทนของพ่อแม่ตนทั้งนั้น เลือดก็แบ่งมาจากท่าน เนื้อก็แบ่งมาจากท่าน ตลอดจนนิสัยใจคอก็ได้รับการอบรมถ่ายทอดมาจากท่าน ความประพฤติของตัวเรานี่แหละ จะเป็นเครื่องประกาศคุณพ่อแม่อย่างชัดแจ้งที่สุด ไม่ใช่อยู่ที่หนังสือแจก ไม่ใช่อยู่ที่หีบศพบนเชิงตะกอน แต่อยู่ที่ตัวเรานี่เอง หากพิมพ์ข้อความไว้ในหนังสือแจกว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นคนตั้งอยู่ในศีลในธรรม แต่ตัวเราเองประพฤติสำมะเลเทเมา คอร์รัปชั่นทุกครั้งที่มีโอกาส ศีลข้อเดียวก็ไม่สนใจรักษาก็ผิดที่ไป สดุดีคุณพ่อแม่ว่าเป็นคนดี สุภาพเรียบร้อย แต่ตัวเรา ผู้เป็นลูกกลับประพฤติตัวเป็นนักเลงอันธพาล อย่างนี้คุณค่าของการสรรเสริญพ่อแม่ก็ลดน้ำหนักลง กลายเป็นว่ามอบหน้าที่ในการกตเวทีประกาศคุณพ่อแม่ให้หนังสือทำแทน ให้กระดาษ ให้เครื่องพิมพ์ ให้ช่างเรียงพิมพ์ แสดงกตเวที แทน แล้วตัวเรากลับประจานพ่อแม่ของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็ประจานแก่ ชาวบ้านว่าพ่อแม่ของเราเลี้ยงลูกไม่เป็นประสา

พ่อแม่ของใครใครก็รัก เมื่อรักท่านก็ประกาศคุณความดีของท่านสิ ประกาศด้วยความดีของตัวเราเองตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ยิ่งท่านยังมีชีวิตอยู่ การประกาศคุณของเราจะทำให้ท่านมีความสุขใจอย่างยิ่งส่วนใครจะประพันธ์สรรเสริญคุณพ่อแม่พิมพ์แจกเวลาท่านตายแล้ว นั่นเป็นประเด็นเบ็ดเตล็ด จะทำก็ได้ ไม่ทำก็ไม่เสียหายอะไร

ไม่ว่าเราจะตั้งใจประกาศคุณท่านหรือไม่ ความประพฤติของเราก็เป็นตัวประกาศคุณท่านหรือประจานท่านอยู่ตลอดเวลา คิดเอาเองก็แล้วกันว่า เราจะประกาศคุณพ่อแม่ของเราด้วยเกียรติยศชื่อเสียง หรือจะใจดำถึงกับประจาน ผู้บังเกิดเกล้าด้วยการทำตัวเป็นพาลเกเรและประพฤติต่ำทราม

การตอบแทนคุณท่าน แบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ

๑. เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ช่วยเหลือกิจการงานของท่าน เลี้ยงดูท่านตอบเมื่อยามท่านชรา ดูแลปรนนิบัติการกินอยู่ของท่านให้สะดวกสบายและเอาใจใส่ช่วยเหลือเมื่อท่านเจ็บป่วย

๒. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ก็จัดพิธีศพให้ท่าน และทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่านอย่างสม่ำเสมอ

แม้ว่าเราจะตอบแทนพระคุณท่านถึงเพียงนี้แล้ว ยังนับว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับพระคุณอันยิ่งใหญ่ที่ท่านมีต่อเรา ผู้ที่มีความกตัญญูกตเวทีต้องการจะสนองพระคุณท่านให้ได้ทั้งหมด พึงกระทำดังนี้

๑. ถ้าท่านยังไม่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก็พยายามชักนำให้ท่านตั้งอยู่ในศรัทธาให้ได้

๒. ถ้าท่านยังไม่ถึงพร้อมด้วยการให้ทาน ก็พยายามชักนำให้ท่านยินดีในการบริจาคทานให้ได้

๓. ถ้าท่านยังไม่มีศีล ก็พยายามชักนำให้ท่านรักษาศีลให้ได้

๔. ถ้าท่านยังไม่ทำสมาธิภาวนา ก็พยายามชักนำให้ท่านทำสมาธิภาวนาให้ได้

เพราะว่าการตั้งอยู่ในศรัทธา การให้ทาน การรักษาศีล การทำสมาธิภาวนาเป็นประโยชน์โดยตรงและเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตัวบิดามารดาผู้ปฏิบัติ เองทั้งในภพนี้ภพหน้า และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือเป็นหนทางไปสู่นิพพาน

อานิสงส์การบำรุงบิดามารดา

๑. ทำให้เป็นคนมีความอดทน

๒. ทำให้เป็นคนมีสติรอบคอบ

๓. ทำให้เป็นคนมีเหตุผล

๔. ทำให้พ้นทุกข์พ้นภัย

๕. ทำให้ได้ลาภโดยง่าย

๖. ทำให้แคล้วคลาดภัยในยามคับขัน

๗. ทำให้เทวดาลงรักษา

๘. ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ

๙. ทำให้มีความเจริญก้าวหน้า

๑๐. ถ้ามีลูกก็จะได้ลูกที่ดี

๑๑. ทำให้มีความสุข

๑๒. ทำให้เป็นแบบอย่างอันดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ฯลฯ

“เพราะการปรนนิบัติในมารดาบิดานั้นแล บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขาในโลกนี้นี่เอง เขาละไปแล้ว ย่อมบันเทิงในสวรรค์”

ขุ. ชา. สตฺตติ ๒๘/๑๖๒/๖๗

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

หากชอบบทความนี้โปรดช่วยแชร์ให้คนที่คุณรัก

ที่มา fanpost