5 วิธี ใช้เงินน้อยๆ แต่มีความสุขมากๆ…แบบนี้ก็ได้นะ

5 วิธี ใช้เงินน้อยๆ แต่มีความสุขมากๆ…แบบนี้ก็ได้นะ

หลายคนคิดว่ายิ่งมีเงินเยอะ จะยิ่งมีความสุข แต่รู้ไหมว่า ใช้เงินน้อยๆ ก็มีความสุขมากๆ ได้ด้วยเหมือนกัน

1. ใช้เงินซื้อประสบการณ์ สุขนานกว่าซื้อของ

“ถ้าฉันรวยเมื่อไหร่ ฉันจะซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า แล้วฉันก็จะมีความสุข”…คนส่วนใหญ่เชื่อแบบนี้มานานแสนนาน โดยไม่เคยตั้งคำถามว่าจริงหรือเปล่า

นักวิจัยพบว่า คนเรามีความสุขกับข้าวของใหม่แค่ระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะมนุษย์มีความสามารถในการปรับตัวชั้นยอด ไม่ว่าของสิ่งนั้นจะหรูหรา ให้ความสะดวกสบายแค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราก็จะปรับตัวเข้ากับสิ่งนั้นๆ และไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นอะไรกับมันมากนัก (และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงอยากได้ของใหม่อยู่ตลอดเวลา)

ทว่าข้าวของใหม่ ๆ กลับให้ความรู้สึกตรงข้ามกับประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งจะสร้างความรู้สึกตื่นเต้น ซาบซึ้ง และติดตรึงใจมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าจะใช้เงินโดยหวังว่าจะมีความสุขมากขึ้น แทนที่จะใช้ซื้อสิ่งของ นักวิจัยจึงแนะนำให้ซื้อประสบการณ์ดีกว่า

และนี่คือประสบการณ์ที่ค้นพบแล้วว่า จะฝากความประทับใจให้คนเราสุขมากสุขนานอย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว
  • ประสบการณ์ที่ทำให้เราได้ใกล้ชิดเพื่อนมนุษย์ เช่นแทนที่จะซื้อกระเป๋าหรู ก็เปลี่ยนมาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารตามสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ
  • ประสบการณ์ที่โดดเด่น ประทับใจจนเก็บไว้เล่าให้ใครต่อใครฟังได้เป็นปี ๆ เช่น ขี่จักรยานรอบโลก วิ่งมาราธอนข้ามประเทศเพื่อการกุศล ไปปีนเขา เป็นต้น
  • ประสบการณ์ที่ทำให้เรากลับเป็นตัวของตัวเองหรือทำให้เราเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น เช่น เข้าคอร์สเรียนในสิ่งที่เราสนใจ

2. เปลี่ยนของที่ได้จนเคยชินทุกวัน เป็นของรางวัลในโอกาสพิเศษ

ถ้าเราโปรดปรานการเริ่มต้นวันใหม่ด้วยกาแฟสดหอมกรุ่น ราดด้วยฟองนม และดื่มอย่างนี้เป็นประจำมาตลอดแล้วละก็ ลองหยุดดื่มสัก 3 วันรับรองว่าวันที่ 4 กาแฟรสชาติเดิม ๆ สูตรเดิม ๆ จะอร่อยยิ่งกว่าเดิม

นักวิจัยบอกว่า การที่จะทำให้ช็อกโกแลต กาแฟ หรือสิ่งใดก็ตามกลับมาสร้างความสุขให้เราได้อีกครั้ง เราต้องบริโภคสิ่งเหล่านั้นให้น้อยลง หรือเว้นช่วงการดื่ม กิน ช็อป และเปลี่ยนให้สิ่งของหรือกิจกรรมนั้น ๆ กลาย

เป็นของรางวัลที่นาน ๆ ครั้งเราจึงจะได้รับ แล้วเราก็จะมีความสุขจากมันมากขึ้นโดยที่ใช้เงินน้อยลงกว่าเดิม


3. ซื้อเวลาให้ตัวเอง

เวลาคือปัจจัยสำคัญของความสุข และเวลาที่ว่าก็คือเวลาในปัจจุบันไม่ใช่เวลาหลังเกษียณอย่างที่มักเข้าใจกัน นักวิจัยได้ออกแบบการทดลอง โดยให้อาสาสมัครกดปุ่มเพื่อแลกกับช็อกโกแลต โดยกด 10 ครั้งจะได้ช็อกโกแลต 1 ชิ้นแต่ละคนมีเวลา 5 นาที จะกดมากเท่าไหร่ก็ได้ และพอหมดเวลาทุกคนก็จะได้กินช็อกโกแลตที่ตัวเองกดได้ แต่มีข้อแม้ว่า ถ้ากินไม่หมดห้ามเอากลับบ้านเด็ดขาด ทำให้แต่ละคนต้องกินแบบรีบเร่ง

ผลการทดลองคือ คนส่วนใหญ่กดปุ่มกันไม่บันยะบันยังได้รับช็อกโกแลตเยอะก็จริง แต่กลับกินอย่างไม่มีความสุข แต่เมื่อนักวิจัยจำกัดจำนวนช็อกโกแลตในกลุ่มการทดลองกลุ่มหนึ่ง ปรากฏว่า คนกลุ่มนี้รู้สึกมีความสุขมากขึ้น (เพราะเหนื่อยน้อยลง ทั้งตอนกดและตอนกิน)

จะว่าไปแล้ว ในการทดลองนี้ ช็อกโกแลตก็เปรียบเหมือนเงิน ส่วนการกดปุ่มก็เปรียบเหมือนการทำงานและตอนกินก็เปรียบได้กับการใช้เงินที่ได้จากการทำงานนั่นเอง เราจะเห็นว่า ด้วยเวลาที่มีจำกัด การมุ่งมั่นเอาแต่ปริมาณหรือเงินตราเป็นการใช้เวลาอย่างไม่มีความสุข สุดท้ายแม้จะได้สิ่งที่ต้องการมามากมาย แต่เรากลับไม่สามารถมีความสุขกับมันอย่างที่ควร

ฉะนั้น ก่อนควักกระเป๋าครั้งหน้า อย่าลืม!
ถามตัวเองทุกครั้งที่ซื้อของว่า ของสิ่งนั้นกระทบกับการใช้เวลาของเราแค่ไหน เช่น ถ้าการซื้อรถป้ายแดงหมายถึงการต้องทำงานหนัก ต้องกระเหม็ดกระแหม่กินแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็แปลว่าคุณภาพของเวลาในชีวิตเรา

จะหายไป และเชื่อเถอะว่า เราจะไม่มีความสุขอย่างที่คิด
หากคิดคำนวณเรื่องคุณภาพของเวลาแบบนี้บ่อย ๆ ทัศนคติในการเลือกจับจ่ายก็จะเน้นไปที่ความสุขที่เราจะได้รับโดยอัตโนมัติ

4. จ่ายสดงดบัตร

โดยปกติเรารู้สึกอย่างไรในช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนจะถึงวันที่ได้ไปเที่ยว…ทั้งตื่นเต้นและเบิกบานใจเอามาก ๆ เลยใช่ไหมล่ะ!

นักวิจัยกล่าวว่า การคิดถึงสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นสร้างความสุขได้มหาศาล และในการใช้จ่ายเพื่อซื้อความสุขที่ยังมาไม่ถึง เช่น ตั๋วคอนเสิร์ต ทริปท่องเที่ยว ฯลฯ การจ่ายด้วยเงินสดก็จะให้ความสุขมากกว่า

การใช้บัตรเครดิต เพราะเมื่อจ่ายเงินไปแล้ว เราก็จะคิดถึงแต่ช่วงเวลาดี ๆ ที่จะตามมาโดยไม่มีอะไรต้องกังวล

ตรงกันข้ามกับการใช้บัตรเครดิต ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการยืมเงินธนาคารมาใช้ (เพราะตัวเองยังไม่มีเงินสด) แล้วค่อยจ่ายคืนทีหลัง ซึ่งข้อเสียคือ มันจะกระตุ้นให้เราใช้เงินมากขึ้น
ครั้งหนึ่งมีการทดลองให้คนมาประมูลตั๋วกีฬาที่ขายหมดไปแล้วปรากฏว่า ถ้าให้ใช้เงินสด ยอดประมูลจะสิ้นสุดลงที่ 28 ดอลลาร์สหรัฐโดยเฉลี่ย แต่ถ้าให้ใช้บัตรเครดิต ยอดประมูลจะพุ่งสูงถึง 60 ดอลลาร์ และคนที่ใช้

บัตรเครดิตก็มักเข้าใจว่า ตัวเองใช้จ่ายน้อยกว่าที่เป็นจริงเฉลี่ยแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว (เช่น ซื้อของจริง 1,000 บาท แต่คิดว่าตัวเองใช้เงินไปแค่ 700 บาท!) และการที่ต้องจ่ายเงินก้อนเพื่อเคลียร์บัตรเครดิต

ด้วยยอดเงินที่สูงกว่าที่คาดคิด ก็จะทำให้เรารู้สึกผิดหรือทุกข์ใจ ซึ่งความรู้สึกตรงนี้จะติดอยู่ในใจลึก ๆ และเจืออยู่ในอารมณ์ทุกครั้งที่เราซื้อของชิ้นใหม่ด้วยบัตรเครดิต ส่งผลให้เรามีความสุขกับของชิ้นใหม่น้อยกว่าที่

ควรโดยไม่รู้ตัว

5. แบ่งปันให้ผู้อื่น

นักจิตวิทยาชื่อ ลาร่า อักนิน (Lara Aknin) เคยทดลองเมื่อปี ค.ศ. 2008 และได้ผลสรุปออกมาว่า การให้เงินกับผู้อื่นทำให้คนเรามีความสุขได้มากกว่าจริง ๆ
ลาร่าเริ่มการทดลองด้วยการสอบถามระดับความสุขของผู้เข้าร่วมการทดลองก่อน จากนั้นก็จะให้พวกเขาหยิบซองจดหมายคนละซอง ซึ่งในซองจะมีธนบัตรใบละ 5 หรือ 20 ดอลลาร์พร้อมกับคำสั่ง เช่น ใช้เงินนี้ตาม

สบาย หรือให้นำเงินไปบริจาคก่อนห้าโมงเย็น จากนั้นเธอจะโทร.ไปถามว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร ซึ่งปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการทดลองที่นำเงินไปให้คนอื่นรู้สึกสุขใจมากกว่าคนที่นำเงินไปใช้เองอย่างเห็นได้ชัด ทั้งที่ก่อนเข้า

ร่วมการทดลอง พวกเขาก็ไม่ได้มีระดับความสุขต่างกันนัก

ที่น่าสนใจก็คือ จำนวนเงินจะมากหรือน้อยไม่ได้มีผลต่อความสุข คนที่บริจาคไม่ว่าจะ 5 หรือ 20 ดอลลาร์ก็มีความสุขไม่ต่างกัน แต่จะมีความสุขมากขึ้นถ้ารู้ว่า คนที่เขาช่วยเหลือนำเงินไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง



และถ้าจะหาคนรับรองสักคนจากกรณีนี้ ก็น่าจะเป็น วอร์เรนบัฟเฟตต์ ที่บริจาคเงินส่วนตัวเพื่อการกุศลถึง 99 เปอร์เซ็นต์ เหลือไว้ใช้เองแค่ 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งพอสื่อไปถามบัฟเฟตต์ว่า เขารู้สึกอย่างไร เสียดาย

เงินบ้างไหม คำตอบของบัฟเฟตต์ก็คือ “ผมไม่มีทางมีความสุขได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว”
ใช้เงินซื้อประสบการณ์แทนสิ่งของ…เปลี่ยนของที่ได้จนเคยชินเป็นของรางวัลในโอกาสพิเศษ…เห็นความสำคัญของเวลา…จ่ายสดงดบัตร…และแบ่งปันให้ผู้อื่น เพียง 5 ข้อนี้คุณก็จะพบว่าเงินให้ความสุขกับคุณได้

มากกว่าเดิม แถมความสุขบางชนิดก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากอย่างที่คิดอีกด้วย!

ขอขอบพระคุณที่มา: goodlifeupdate