Home »
Uncategories »
เปิดประวัติ ตำนาน “พระแก้วมรกต” กว่าจะมาเป็นวัด คู่เมืองของประเทศ
เปิดประวัติ ตำนาน “พระแก้วมรกต” กว่าจะมาเป็นวัด คู่เมืองของประเทศ
ตำนานพระแก้วมรกต หรือพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
มีบันทึกความเป็นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การพบว่าเป็นพระแก้วมรกต เมื่อ
พ.ศ. 1977 หรือเมื่อ 611 ปีมาแล้ว
ล่าสุด เมื่อ พ.ศ. 2538-2539 ได้มีบันทึกย้ำประวัติอีกครั้ง
แต่เป็นการเล่าเรื่องโดยใช้ภาพเขียนฝีมือสล่า (ช่างล้านนา)
ที่ผนังด้านในโดยรอบหอพระหยก วัดพระแก้ว จ.เชียงราย
ซึ่งมิได้เล่าเฉพาะตำนานพระแก้วมรกต หากแต่เล่าเหตุการณ์สร้างหอพระหยก
และการสร้างพระหยกเชียงรายด้วย ในจำนวน 9 ภาพ
ภาพแต่ละภาพบรรยายโดยพระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์) เจ้าคณะภาค 6
เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว จ.เชียงราย คือภาพ 1-4 เล่าประวัติต้นพระศรีมหาโพธิ์
จนถึงพิธีพุทธาภิเษก และการสร้างพระหยกเชียงราย
ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับพระแก้วมรกตองค์เดิม
ที่ประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หากแต่เรียกชื่อต่างกันออกไปไม่ให้ซ้ำกับพระพุทธปฏิมากรของแผ่นดิน
ภาพที่ 5-9 เล่าความเป็นมาของพระแก้วมรกต ตามความในตำนาน รัตนพิมพวงศ์
ซึ่งพระภิกษุพรหมราชปัญญา แห่งเมืองเชียงใหม่ แต่งเป็นภาษาบาลีไว้ระหว่าง
พ.ศ. 2060-2071 (ค.ศ. 1517-1528) มีผู้แปลเป็นไทยแล้ว 3 ครั้ง คือ
พระเจดีย์ที่บูรณะใหม่แทนของเก่า ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกตจาก พ.ศ. 1929-1977
ตำนานมีว่า พระแก้วมรกตนั้น พระนาคเสนเถระแห่งเมืองปาฏลีบุตร
(เมืองปัตนะ รัฐพิหาร อินเดีย) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 500
โดยพระอินทร์นำแก้วอมรโกฏิมาถวาย
ต่อมาเมืองปาฏลีบุตรถูกพวกนอกศาสนารุกรานจึงมีผู้อัญเชิญไปไว้ในเกาะสีหล
(ศรีลังกา) เมื่อประมาณ พ.ศ. 1000 (ค.ศ. 457) พระเจ้าอโนรธามังฉ่อ
หรืออนุรุทธะแห่งเมืองมลาบุรนคร (พุกามหรือพม่าสมัยโบราณ)
ได้ส่งสมณทูตไปขอพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกจากเกาะสีหล
แต่สำเภาที่อัญเชิญไปถูกพายุร้ายพัดพาเอาสำเภาไปตามกระแสน้ำนานนับเป็นเดือน
และมาเกยตื้นฝั่งเขตเมืองมหานิชินทนคร (กัมพูชา) และถูกเจ้าเมืองยึดไว้
ไม่ยอมคืน
ต่อมาพระเจ้าอาทิตยราชแห่งเมืองอโยชฌา (อยุธยา)
ยกกองทัพไปตีได้เมืองมหานิชินทนคร
จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ที่เมืองอโยชฌาและเมืองวชิรปราการ
(กำแพงเพชร) ตามลำดับ
ประมาณ พ.ศ. 1929 (ค.ศ. 1386) พระเจ้ามหาพรหม
หรือพระมหาธรรมราชาแห่งเมืองชิรายปุระ (เชียงราย)
ได้ไปขอพระแก้วมรกตมาบรรจุไว้ในเจดีย์ วัดญรุกขวนาราม (วัดป่าไม้เยี้ยะ
หรือวัดพระแก้วปัจจุบัน) เพราะเกรงจะตกไปอยู่ในมือของอริราชศัตรู
หรือคนนอกศาสนา และเมื่อ พ.ศ. 1977 พระเจดีย์วัดญรุกขวนาราม ได้ถูกอสนีบาต
(ฟ้าผ่า) จึงได้ค้นพบพระแก้วมรกตอีกครั้งหนึ่ง
ชาวเมืองชิรายปุระในสมัยนั้นจึงเกิดปีติปราโมทย์ พร้อมใจกันบำเพ็ญทาน ศีล
ภาวนา และสมโภชพระแก้วมรกตขึ้น
ผู้เขียนภาพที่ 5-9 คือ ปรีชา ราชวงศ์ และณรงค์เดช สุดใจ
ส่วนหลักฐานที่เป็นโบราณสถานที่พบพระแก้วมรกต
มีข้อมูลในหนังสือเรื่องการขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือ ของกรมศิลปากร
จัดพิมพ์ พ.ศ. 2525 หน้า 109 ประกาศให้วัดพระแก้ว จ.เชียงราย
เป็นโบราณสถานลำดับที่ 1 ของ จ.เชียงราย ว่า
สิ่งสำคัญที่ขึ้นทะเบียน ได้แก่ เจดีย์
ซึ่งเคยบรรจุประดิษฐานพระแก้วมรกต ซึ่งไม่สามารถระบุอายุสมัย
และประวัติการก่อสร้างได้
ส่วนความสำคัญนั้นระบุว่ามีประวัติความเป็นมาเกี่ยวพันกับพระแก้วมรกต
ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 1979 (รัตนพิมพวงศ์ ว่า พ.ศ. 1977)
สมัยเจ้าสามฝั่งแกนผู้ครองเมืองนครเชียงใหม่
ปรากฏว่าเจดีย์วัดพระแก้วเมืองเชียงราย ต้องอสนีบาต (ฟ้าผ่า) พังลง
มีผู้พบพระพุทธรูปองค์หนึ่ง
ลงรักปิดทองตกลงมาจากเจดีย์จึงอัญเชิญไปไว้ที่วิหารหลวง
ต่อมารักที่ทาไว้ที่ปลายพระนาสิกได้กะเทาะออก จึงเห็นเป็นแก้ว
เจ้าอาวาสจึงขัดสีเอารักและทองที่ปิดออกจนหมด
ปรากฏว่าเป็นพระแก้วมรกตทั้งองค์
พระเจ้าสามฝั่งแกนทราบข่าวจึงอัญเชิญไปเชียงใหม่
แต่ขบวนช้างที่นำพระแก้วไม่ยอมไปทางเชียงใหม่ กลับตื่นวิ่งไปนครลำปาง
หมื่นโลกนาถจึงขอเอาไว้ประดิษฐานที่นครลำปางนานถึง 32 ปี
ก่อนที่อัญเชิญไปเชียงใหม่
ภาพเขียนเล่าเรื่องการสร้างพระหยกเชียงราย
ปัจจุบันพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร
ได้ประกาศขึ้นทะเบียน ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอน 75 ลงวันที่ 8 มี.ค. 2478
(กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน จ.เชียงราย
ที่ปรากฏในหนังสือดังกล่าวทั้งหมด 34 รายการด้วยกัน อยู่ที่ อ.เมือง 5
รายการ อ.เชียงแสน 26 รายการ กิ่ง อ.เวียงชัย 1 รายการ อ.เทิง 1 รายการ และ
อ.เวียงป่าเป้า 1 รายการ)
นอกจากนั้น พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว เจ้าคณะภาค 6
เล่าประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกต และวัดพระแก้ว จ.เชียงราย
ในหนังสือขนาดเล็กชื่อวัดพระแก้ว หนา 36 หน้า
เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงสิ่งสำคัญในวัด
พระเจดีย์ วัดพระแก้ว เชียงราย
พระธรรมราชานุวัตร
เขียนถึงพระเจดีย์องค์ปัจจุบันที่เคยบรรจุพระแก้วมรกตว่า
เป็นพระเจดีย์ที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาใหม่
มีลักษณะเป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานแปดเหลี่ยมยกเก็จ
(ตั้งแต่ฐานล่างสุดจนถึงฐานบัวถลาบนสุดที่รองรับองค์ระฆัง)
ประกอบด้วยชุดฐานปัทม์แปดเหลี่ยมยกเก็จประดับลวดบัว เส้นบน 2 เส้น เส้นล่าง
2 เส้น วางอยู่บนชุดฐานบัวถลาแปดเหลี่ยมยกเก็จ 2 ชั้น
(แต่ละชั้นประกอบด้วยฐานเขียงชั้นบัวคว่ำ และหน้ากระดานท้องไม้)
และฐานเขียงแปดเหลี่ยมยกเก็จ 3 ชั้น ลดหลั่นกัน
เหนือฐานปัทม์ขึ้นไปเป็นขุดฐานเขียงแปดเหลี่ยมยกเก็จ 3 ชั้น ลดหลั่นกัน
แล้วต่อด้วยชุดบัวถลาแปดเหลี่ยมยกเก็จ 5 ชั้น ลดหลั่นกัน
(แต่ละชั้นประดับลวดบัวขนาดใหญ่หนึ่งเส้นท้องไม้ที่หน้ากระดาน)
ถัดขึ้นมาเป็นชุดกลีบบัวคว่ำบัวหงายรองรับองค์ระฆังขนาดใหญ่
ประดับเส้นลวดบัวแบบเหลี่ยมรัดรอบบริเวณองค์ระฆัง
เหนือขึ้นไปเป็นบัลลังก์ทรงสูงปล้องไฉนขนาดใหญ่ 9 ชั้น รองรับปลียอดและฉัตร
9 ชั้น เหนือสุดประดับลูกแก้ว
พระเจดีย์องค์เดิมน่าจะสร้างมาตั้งแต่แรกสร้างวัด ต่อมาได้ถูกอสนีบาต
ทำให้พังทลายลงเมื่อ พ.ศ. 1977 จึงได้ค้นพบพระแก้วมรกต
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ เมื่อ พ.ศ.
2478 ต่อมาได้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมสภาพตามกาลเวลา พระครูธรรมวงศ์วิวัฒน์
เจ้าอาวาสวัดพระแก้วในขณะนั้น
(ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระพุทธิวงศ์วิวัฒน์) ได้บูรณะซ่อมแซมเมื่อ
พ.ศ. 2495 แล้วเสร็จ 6 เม.ย. 2497
พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์) เจ้าคณะภาค 6 เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว
ต่อมาใน พ.ศ. 2533 พระเจดีย์อยู่ในสภาพทรุดโทรมลงอีก พระราชรัตนากร
(สมณศักดิ์ของเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันในขณะนั้น) จึงบูรณปฏิสังขรณ์
โดยกะเทาะปูนเก่าออกและฉาบปูนใหม่ หุ้มทองเหลือง
ประดับด้วยทองจังโก้และลงรักปิดทองพระเจดีย์ทั้งองค์
พร้อมกับได้ทำยอดฉัตรใหม่ 9 ชั้น ทำด้วยเงินแท้บริสุทธิ์ ลงรักปิดทอง
และดำเนินการปรับปรุงลานพระเจดีย์และปริมณฑลให้มีภูมิทัศน์สวยงาม
การบูรณะพระเจดีย์ครั้งนี้
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เนื่องในมหามงคลเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา วันที่ 21 ต.ค. 2533
โดยเริ่มดำเนินการบูรณะใน พ.ศ. 2535 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2538
และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เสด็จฯ เป็นประธานยกยอดฉัตรพระเจดีย์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2541
จะเห็นได้ว่า เจดีย์วัดพระแก้วได้รับการบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง
หากไม่ทราบประวัติ หรือไม่พิจารณาอย่างละเอียดแล้ว
ก็จะเห็นว่าเป็นของที่สร้างขึ้นใหม่ ไม่มีร่องรอยของเก่า ทั้งๆ
ที่เป็นเจดีย์ประวัติศาสตร์แห่งการค้นพบพระแก้วมรกต
หอพระหยกเชียงราย
พระธรรมราชานุวัตร เล่าถึงเหตุผลในการสร้างหอ พระหยกว่า
วัดในเขตภาคเหนือสมัยโบราณ นอกจากจะมีอุโบสถ วิหาร ศาลา กุฏิ หอฉัน หอธรรม
หอกลอง ฯลฯ แล้วยังมี หอพระ
เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญของวัดอีกด้วย
หอพระหยกเชียงรายนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญเช่นกัน
หอพระหยกเชียงรายเป็นอาคารไม้ ทรงล้านนาโบราณ ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12
เมตร ภายในหอพระหยกมีพระพุทธรตนากรนวุติวัสสานุสรณ์มงคล นามสามัญว่า
พระหยกเชียงราย ประดิษฐานในบุษบกทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง สูง 5.60 เมตร
เรือนยอดบุษบกทำด้วยไม้สักสลักลวดลาย ลงรักปิดทองประดับกระจก มีฉัตร 7 ชั้น
ทำด้วยเงินแท้ ลงรักปิดทอง เรียกว่า ฉัตรเงิน ฉัตรทองมีส่วนสูง 40
เซนติเมตร
องค์พระพุทธรูปทำด้วยหยกจากประเทศแคนาดา ซึ่งมิสเตอร์ ฮูเวิร์ด โล
นำมาถวาย มีขนาดหน้าตักกว้าง 47.9 เซนติเมตร สูง 65.9 เซนติเมตร
ทรงเครื่องแบบเชียงแสน (พระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสวัดปัจจุบัน
ได้สร้างถวายเมื่อ พ.ศ. 2541) สร้างโดยคณะสงฆ์และชาว จ.เชียงราย
ทั้งนี้ได้รับความอุปถัมภ์จาก พล.อ.ชาติชาย และท่านผู้หญิงบุญเรือน
ชุณหะวัน เพื่อน้อมเกล้าฯ
ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
เนื่องในมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา และเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า
วัดพระแก้วแห่งนี้ค้นพบพระแก้วมรกต โดย กนก วิศวะกุล
เป็นผู้ปั้นหุ่นต้นแบบพระหยกเชียงราย
และแกะสลักโดยนายช่างแกะสลักจากโรงงานวาลินนานกู เมืองปักกิ่ง
ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2534
ในวันที่ 19 ต.ค. 2534 ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์หอพระหยก และในวันที่ 20
ก.ค. 2540 อาราธนาพระหยกเชียงรายขึ้นประดิษฐานบนบุษบกภายในหอพระหยก
และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
เสด็จฯ ไปเปิดหอพระหยกในวันที่ 26 พ.ย. 2541
ผนังด้านในโดยรอบหอพระหยก ตบแต่งด้วยแผ่นหยก มีภาพเขียน
เป็นภาพเหตุการณ์สร้างหอพระหยก การสร้างพระหยกเชียงราย
และประวัติความเป็นมาของพระแก้วมรกต จำนวน 9 ภาพ แต่ละภาพมีข้อความบรรยาย
โดยพระธรรมราชานุวัตร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน
เมื่อมีเวลาไปแอ่วเมืองเหนือ อย่าลืมแวะวัดที่เป็นประวัติศาสตร์ยาวนานแห่งนี้ เพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้บูชามากมาย