ฟ้าหญิงทรงนำวิจัยสำเร็จ พัฒนายารักษามะเร็งเต้านม

ฟ้าหญิงทรงนำวิจัยสำเร็จ พัฒนายารักษามะเร็งเต้านม


ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ต่อปัญหาสุขอนามัยของประชาชน ทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของประเทศที่จะต้องเร่งผลิตบุคลากรด้านงานวิจัยที่มีศักยภาพและมีความสามารถในการคิดค้นพัฒนายาเพื่อทำให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองด้านยาชีววัตถุอันจะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงทางยาและลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง

จึงทรงแสวงหาความร่วมมือจากคณาจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) แห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงวางนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองให้ประเทศ ได้แก่ การวิจัยและการพัฒนานักวิจัยซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุด

กว่าทศวรรษของการทุ่มเทและพระวิริยอุตสาหะในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาบุคลากรด้านงานวิจัย เมื่อปี พ.ศ. 2552 ได้พระราชทานพระนโยบายให้จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนายาชีววัตถุขึ้นที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และทรงให้สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ ซึ่งทรงตั้งขึ้นเช่นกัน เร่งพัฒนานักวิจัยระดับปริญญาโท-เอก เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ

นอกจากนี้ ยังเสด็จนำนักวิจัยของสถาบันและผู้บริหารอาวุโสของหน่วยงานที่เสนอให้การสนับสนุนในขณะนั้นไปดูงานทางวิชาการ ณ สถาบัน MIT และบริษัทผลิตยาชีววัตถุชั้นนำในต่างประเทศที่สาธารณรัฐอินเดียและสหรัฐอเมริกาด้วย เพื่อเป็นแนวทางนำมาปรับใช้ในศูนย์วิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์

เป็นข่าวที่น่ายินดีของประชาชนชาวไทยอย่างยิ่งที่ขณะนี้นักวิจัยของศูนย์วิจัยและพัฒนายาชีววัตถุ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ภายใต้การนำของ ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาชีววัตถุซึ่งเป็นโมโนโคลนอล แอนติบอดี้ ชนิดแรก มีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม ชื่อว่า Trastuzumab เริ่มตั้งแต่การวิจัย การตัดต่อดีเอ็นเอและนำไปพัฒนาเซลล์ต้นแบบจากเซลล์เพียง 1 เซลล์ ควบคู่ไปกับการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพตามมาตรฐานสากลในทุกขั้นตอน จนกระทั่งสามารถผลิตเป็นยาสำเร็จ ในปริมาณที่สูงพอที่จะนำไปพัฒนาตามกระบวนการในระดับอุตสาหกรรม

ความสำเร็จครั้งนี้นับเป็นนวัตกรรมด้านยาชีววัตถุที่แท้จริงชิ้นแรก และครั้งแรกที่คิดและดำเนินการโดยนักวิจัยไทยในประเทศไทย โดยไม่ต้องอาศัยการซื้อ หรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการดำเนินงานของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น

ประสบความสำเร็จและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้ประเทศไทยสามารถสร้างผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ส่งผลให้เศรษฐกิจของชาติพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน และเพื่อการพัฒนาศักยภาพและกำลังคนของประเทศตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

จากความสำเร็จในงานวิจัยและพัฒนากระบวนการดังกล่าวข้างต้น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์พร้อมขยายปริมาณการผลิตไปสู่ระดับอุตสาหกรรม โดยจะร่วมมือกับโรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ซึ่งมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในระดับอุตสาหกรรม และได้รับการรับรองมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) กล่าวคือ นักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ดำเนินการวิจัยตั้งแต่ขั้นแรกของกระบวนการต้นน้ำ คือการสร้างเซลล์ต้นแบบ พัฒนาวิธีขยายปริมาณและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตัวยา จนกระทั่งการพัฒนาวิธีการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาชีววัตถุ

ส่วนนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจะดูแลการพัฒนากระบวนการการผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อยอด และจากความร่วมมือยังผลให้นักวิจัยจากทั้งสองสถาบันจะสามารถร่วมกันพัฒนาและผลิตยาชีววัตถุนี้ได้อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในอนาคตอันใกล้ เป็นผลให้ผู้ป่วยมะเร็งบางชนิดโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมมีโอกาสเข้าถึงยามากขึ้น

ความสำเร็จซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานเป็นผลสืบเนื่องจากแนวพระดำริ พระวิสัยทัศน์ตลอดจนการอุทิศพระองค์เพื่อประชาชนของศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์ของไทย ผู้ทรงเล็งเห็นความสำคัญ ทรงริเริ่มและทรงวางรากฐานการพัฒนายาชีววัตถุ เพื่อความมั่นคงทางด้านยาของประเทศและประโยชน์สุขของปวงชน ชาวไทยอย่างแท้จริงมาเป็นเวลานานนับสิบปี