ดร.สามารถ ติง ที่หยอดเหรียญรถเมล์ 1.65 พันล้าน ใช้งานไม่ได้ ซื้อรถ NGV ใหม่ได้ 456 คัน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ติงใช้งบ 1,665 ล้านบาท ติดเครื่องเก็บเงินบนรถเมล์ ใช้ซื้อรถ NGV ใหม่ได้ 456 คัน บอกเสียดายจริง ๆ 

          หลังจากที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ประกาศยกเลิกเครื่องหยอดเหรียญบนรถเมล์ เผยติดปัญหาทั้งประสิทธิภาพและข้อจำกัดในการใช้งานนั้นก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมาย เพราะการเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ (E-Ticket) และเครื่องเก็บค่าโดยสาร (Cash box) บนรถโดยสารจำนวน 2,600 คัน ที่ทาง ขสมก. ได้ทำสัญญากับ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) มีมูลค่าถึง 1,665 ล้านบาท ระยะสัมปทาน 5 ปี
(อ่านเพิ่มเติม : ขสมก. ยกเลิกเครื่องเก็บเงินบนรถเมล์ ชี้ติดปัญหาหลายอย่าง-ใช้งานไม่ได้จริง

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ (14 ธันวาคม 2560) ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า เสียดายจริง ๆ เพราะวัตถุประสงค์ของการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญก็คือ ขสมก. ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งจากข้อมูลของ ขสมก. พบว่า ค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารคิดเป็นประมาณ 60% ของรายได้ นั่นหมายความว่า ถ้าเก็บค่าโดยสารได้ 1 บาท จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารประมาณ 60 สตางค์ ส่วนการติดตั้งเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์นั้น ขสมก. ต้องการใช้ในการอ่านบัตรคนมีรายได้น้อยหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามที่รัฐบาลได้มอบให้


          แต่ปรากฏว่าหลังจากทดลองใช้กล่องหยอดเหรียญและเครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ประมาณ 40 วัน ขสมก. ได้สั่งยกเลิกการติดตั้งกล่องหยอดเหรียญบนรถเมล์จำนวนที่เหลืออีก 1,800 คัน หลังจากติดตั้งไปแล้ว 800 คัน โดยอ้างว่าการใช้กล่องหยอดเหรียญมีปัญหาทางเทคนิค บางครั้งกล่องไม่คืนเหรียญหรือคืนเหรียญไม่ถูกต้อง ที่สำคัญในช่วงเวลาเร่งด่วนซึ่งมีผู้โดยสารแน่นมาก ทำให้ต้องเสียเวลาในการหยอดเหรียญและรับเงินทอน ซึ่งตรงนี้ก่อนติดตั้ง ขสมก.จะต้องศึกษาความเป็นไปได้ในการนำมาใช้ในกรุงเทพฯ ที่มีผู้โดยสารรถเมล์จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน อีกทั้งในปัจจุบันหลายเมืองในหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้กล่องหยอดเหรียญไปแล้ว โดยได้เปลี่ยนไปใช้เครื่องอ่านบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์แทน

          หาก ขสมก. วางแผนการจัดซื้อรถเมล์ใหม่ให้รอบคอบก็จะทำให้ไม่ต้องเสียค่าเช่าติดตั้งกล่องหยอดเหรียญและเครื่องอ่านบัตรโดยสารอีเล็กทรอนิกส์ให้เอกชนถึง 1,665 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถซื้อรถเมล์เอ็นจีวีที่ ขสมก. กำหนดราคากลางไว้คันละ 3.65 ล้านบาท ได้ถึง 456 คัน


ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์