7 วิธีเลี่ยงเสียงกรน ด้วยอาหาร

การกรน (Snoring) เกิดจากกล้ามเนื้อคอคลายตัวขณะหลับจนทำให้ช่องคอแคบลง ซึ่งส่งผลให้ต้องหายใจเข้าออกแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อทางเดินหายใจแคบลงจนถึงจุดหนึ่ง ความแรงของลมหายใจที่ยิ่งเพิ่มมากขึ้น จนเกิดการสั่นสะเทือนของเนื้อเยื่อ ภายในระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีเสียงกรนตามมา นอกจากนี้ การกรนยังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น เกิดการปิดกั้นของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ ภายในระบบทางเดินหายใจ เช่น ลิ้น ลิ้นไก่ เพดานอ่อน คอ หรืออาจเกิดจากสารหล่อลื่น ในระบบทางเดินหายใจลดลง ทำให้เกิดอาการแห้ง และบวม ทางเดินหายใจจึงแคบลง เมื่อหายใจจึงเกิดเป็นเสียงกรน



    ผู้ชายมีอัตราการนอนกรนมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะคนอ้วน ผู้สูงวัย ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หรือโรคจมูกอักเสบ ผู้ที่ทำงานหักโหม หรือออกกำลังกายมากเกินไป นอกจากนี้ การดื่มสุรา สูบบุหรี่จัด กินยานอนหลับ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กรนได้ หากช่องคอแคบลงอีกเรื่อยๆ ก็จะส่งผลให้เกิดการอุดตันในช่องคอแบบชั่วคราว ทำให้ลมหายใจเข้าออกขาดหายไปชั่วขณะ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า การหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหากใครมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะหากปล่อยเอาไว้ อาจเป็นบ่อเกิดของโรคอื่นๆ ตามมา เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด อัมพาต ตลอดจนทำให้มีปัญหากับคนใกล้ชิด



7 วิธีเลี่ยงเสียงกรนในเวลานอน
1.ควบคุมน้ำหนัก ความอ้วนเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของอาการนอนกรน เพราะไขมันที่สะสมบริเวณช่องทางเดินหายใจบริเวณคอ ถูกเบียดให้เล็กลง รวมทั้งไขมันที่หน้าอกและท้อง ก็ยังเป็นภาระให้ร่างกายต้องหายใจหนักขึ้น และใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น
2.ออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อที่ดึงรั้งช่องทางเดินหายใจมีความแข็งแรงขึ้น ขณะที่นอนหลับเนื้อเยื่อภายในปาก จะได้ไม่หย่อนลงมาจนขัดขวางช่องทางเดินหายใจ
3.จัดท่านอน พยายามจัดท่านอน เพื่อป้องกันการหายใจทางปาก โดยการนอนตะแคงงอข้อศอก เพื่อให้มือข้างหนึ่งยันคางไว้เป็นการปิดปาก หรืออาจใช้หมอนหนุนหลังเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้พลิกมานอนหงาย อาจฝึกด้วยการนอนในที่แคบๆ จนเคยชินก็ได้ หรือจะลองใช้ลูกเทนนิสสอดไว้ในเสื้อนอนด้านหลัง ความไม่สบายนี้ จะช่วยเตือนให้คุณหลับในท่าตะแคงได้โดยตลอด
4.ยกศีรษะให้สูงขึ้น ถ้านอนตะแคงไม่ได้จริงๆ ให้นอนหงายแล้วใช้หมอนเล็กๆ หนุนที่บริเวณหลังคอด้านบน ยกศีรษะให้สูงจากเตียง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นหย่อนลงไปในลำคอ จนเกิดเสียงกรนได้
5.รักษาที่นอนให้สะอาด พยายามกำจัดปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดหอบหืด ภูมิแพ้   อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการกรน เช่น ไรฝุ่น ขนสัตว์
6.พยายามอย่าให้มีขี้มูกก่อนนอน จะช่วยให้ช่องจมูกเปิดโล่ง ลมเข้าออกได้อย่างสะดวก
7.เพิ่มระดับความชื้นในห้องนอน เพราะการนอนในห้องที่มีความชื้นต่ำมาก อากาศภายในห้องจะแห้ง ทำให้เยื่อบุต่างๆ ในระบบทางเดินหายใจพลอยแห้งตามไปด้วย บางรายอาจเกิดอาการบวม และทางเดินหายใจตีบแคบลง จนเกิดอาการนอนกรนในที่สุด


วิธีการทานอาหารไม่ให้นอนกรน
    1.ไม่ควรกินอาหารก่อนนอนเยอะเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารหนักๆ ในช่วง 3 ชั่วโมงก่อนนอน เป็นไปได้ควรกินอาหารเบาๆ จำพวกซุปร้อนๆ เช่น ซุปมิโซะ ซุปฟักทอง ซุปข้าวโพด หรือกล้วยน้ำว้าสัก 1-2 ผล
    2.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีฤทธิ์ที่ทำให้ง่วงซึม โดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดภาวะขาดออกซิเจน สมองและกล้ามเนื้อต่างๆ จะสั่งงานให้ร่างกายตื่นขึ้น แต่ถ้าหากถูกกดเอาไว้ด้วยแอลกอฮอล์ หรือยาที่มีฤทธิ์กดประสาท จะทำให้สมองตื่นช้า และอาจตอบสนองต่อภาวะขาดออกซิเจนไม่ทัน จนอาจเสียชีวิตได้
    3.ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ ก่อนนอน การนอนกรนส่วนหนึ่งเกิดขึ้น เพราะนอนหลับไม่สนิท ดังนั้น เพื่อการนอนหลับสนิทจนถึงเช้า ลองดื่มนม น้ำผึ้งผสมน้ำอุ่น หรือน้ำสมุนไพรอุ่นๆ สักแก้วดูนะคะ น่าจะช่วยลดปัญหาได้






สมุนไพรลดอาการกรน
    หอมแดงแก่จัด นอกจากจะมีสรรพคุณแก้หวัด คัดจมูก ลดไขมันอุดตันในหลอดเลือดแล้ว กลิ่นฉุนของหอมแดงยังช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในลำคอ และช่วยให้ระบบหายใจทำงานได้ดีขึ้น จะเอามาดม หรือประกอบอาหารก็ได้ กินทุกวันอย่างน้อยสองเดือน และถ้าจะให้ได้ผลดีต้องกินสดๆ เช่น กินกับเมี่ยง ทำเป็นผักจิ้มน้ำพริก เป็นต้น
    พริกขี้หนู รสเผ็ดของพริกจะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และเกิดความชุ่มชื่นในลำคอ สารแคปไซซินช่วยลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อรอบหลอดลม พริกจึงมีประโยชน์ต่อคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ สามารถนำพริกขี้หนูไปประกอบอาหาร เช่น แกง ต้มยำ หรือต้มโคล้ง จะช่วยให้ระบบหายใจทำงานสะดวกขึ้น ปัญหาการกรนอาจลดลงได้ค่ะ
    ขิง ใช้เหง้าขิงแก่สดขนาดเท่าหัวแม่มือ หรือประมาณ 5 กรัม ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม จะช่วยให้สดชื่น ระบบทางเดินหายใจทำงานสะดวกขึ้น
    ใบแมงลัก มีฤทธิ์แก้หวัด และหลอดลมอักเสบ นำใบไปประกอบอาหาร จะช่วยให้ระบบหายใจทำงานดีขึ้น

วิธีสังเกตอาการหยุดหายใจขณะหลับ
    ในบางรายที่มีอาการหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจทำให้เกิดอาการอื่นๆ ตามมา เช่น โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคอัมพาต ซึ่งอาการนี้สังเกตได้ไม่ยาก ทั้งเจ้าตัวที่นอนกรน รวมทั้งคนใกล้ชิดสามารถสังเกตอาการที่ปรากฏง่ายๆ ดังนี้



1.เสียงกรนดังได้ยินชัดเจน
2.ขี้เซาและง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน ปวดศีรษะและคอแห้งตอนเช้า
3.ตื่นกลางดึกบ่อยๆ ขณะนอนหลับมีการพลิกตัวไปมาอย่างผิดปกติ
4.หายใจติดขัดและหยุดหายใจเป็นพักๆ
5.มีอาการซึมเศร้า ความต้องการทางเพศ และสติปัญญาลดลง
6.ความดันโลหิตสูง จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ