ลูกจ้างดูเอาไว้ สนช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้าง ออกจากงานได้รับค่าชดเชย 400 วัน

ลูกจ้างดูเอาไว้ สนช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้าง ออกจากงานได้รับค่าชดเชย 400 วัน

การทำงานในสถานประกอบการภาคเอกชนนั้น จำเป็นจะต้องมีหน่วยงานควบคุมดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ ต่อตัวลูกจ้าง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องนี้อยู่คือ กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีกรมที่ดูแลเป็นเฉพาะก็คือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ประชุมเห็นชอบ ร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน คาดว่าเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสิทธิที่เพิ่มขึ้นมีอะไรกันบ้าง

สนช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้าง

สิทธิประโยชน์คุ้มครองลูกจ้างของกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่มีดังนี้

1. ลากิจ เพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างสามารถลากิจธุระจำเป็น ได้ไม่น้อยกว่า 3 วันทำงาน โดยที่ยังได้รับค่าจ้างปกติ

2. สิทธิลาคลอดบุตร เพิ่มสิทธิให้ลูกจ้างมีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตรได้ไม่เกิน 98 วัน จากเดิมมีสิทธิลา 90 วัน

3. กรณีเปลี่ยนตัวนายจ้าง กรณีที่นายจ้างเปลี่ยนตัวนายจ้างหรือนิติบุคคล ถ้าลูกจ้างไม่ยินยอม สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยที่นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้กับลูกจ้าง ซึ่งตามกฎหมายเดิมนั้นลูกจ้างจะต้องไปฟ้องศาลเอง

4. เงินค่าชดเชยเลิกจ้าง เพิ่มอัตราค่าชดเชยเลิกจ้างให้กับลูกจ้างที่ทำงานตั้งแต่ 20 ปี ขึ้นไป จะได้รับค่าชดเชยอัตราเพิ่มเป็น 400 วัน จากเดิม 300 วัน ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ในการจ่ายค่าชดเชยเลิกจ้างแบ่งออกเป็นดังนี้

สนช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้าง

– ลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชย 30 วัน

– ลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชย 90 วัน

– ลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชย 180 วัน

– ลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชย 240 วัน

– ลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี ได้รับค่าชดเชย 300 วัน

– ลูกจ้างที่ทำงานต่อเนื่องครบ 20 ปี ขึ้นไป จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน

สนช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ลูกจ้าง

5. กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อื่น หากลูกจ้างไม่ไปสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ โดยได้รับสิทธิเงินชดเชยดังกล่าวด้วย

6. กรณีค่าตอบแทน หากนายจ้างไม่จ่ายค่าตอบแทนในบางอาชีพ ถ้าทำงานเกินเวลาปกติ ลูกจ้างไปฟ้องขอจะได้ดอกเบี้ยสูงถึง 15% ต่อปี (จากเดิม 7.5% ต่อปี)

7. ให้สิทธิเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย โดยทั้งสองต้องได้รับค่าตอบแทนเท่ากัน

ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายควรศึกษาข้อมูลเหล่านี้เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อท่านในวันข้างหน้า

เรียบเรียงโดย : Naykhaotom