โอนเงินผิดบัญชี ทำไงดี แบบนี้ขอคืนได้ไหม ?

โอนเงินผิดบัญชี ทำยังไงดี ดึงคืนได้ไหม ธนาคารช่วยเหลืออะไรได้บ้าง แล้วถ้าคนอื่นโอนผิดมาให้เรา จำเป็นต้องคืนหรือเปล่า มาหาคำตอบกัน

          เชื่อว่าไม่มีใครไม่เคยทำธุรกรรมโอนเงิน ยิ่งเดี๋ยวนี้มีทั้งอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง แอปพลิเคชันของธนาคารที่อำนวยความสะดวกให้เรากดโอนเงินผ่านสมาร์ทโฟนได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องไปเข้าธนาคาร หลายคนก็เลยโอนเงินซื้อของกันเพลินจนขาดความรอบคอบ จำเลขที่บัญชีสลับกันบ้าง ใส่จำนวนเงินผิดบ้าง กดโอนไปเรียบร้อยถึงได้มารู้ตัวว่าพลาดซะแล้ว

          แล้วถ้าเกิดปัญหาความผิดพลาดจากการโอนเงินไปแล้ว ทั้งกรณีที่เราโอนเงินผิดไปให้คนอื่น หรือเป็นคนอื่นที่โอนเงินผิดบัญชีมาให้เรา หากเจอเหตุการณ์แบบนี้จะทำยังไงดี มีวิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นบ้างไหม มาดูกัน
          1. กรณีที่เราโอนเงินผิดบัญชีไปให้คนอื่น          สิ่งที่ควรรีบทำหลังจากรู้ตัวก็คือ

          - รวบรวมหลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสลิปการโอนเงิน หรือหน้าจอการโอนเงินจาก Internet banking

          - รีบติดต่อธนาคารต้นทาง เพื่อแจ้งปัญหาและสอบถามวิธีขอคืนเงิน

          - ธนาคารจะติดต่อไปยังผู้รับโอน เพื่อให้คืนเงินกลับมา ซึ่งธนาคารไม่สามารถดึงเงินจากบัญชีผู้รับโอนโดยพลการได้ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้รับโอนปลายทางก่อน

          - หากผู้รับโอนยินดีคืนเงิน ธนาคารก็จะดำเนินการโอนเงินจำนวนนั้นคืนให้แก่เรา

          - แต่ถ้าผู้รับโอนไม่ยอมคืนเงิน ผู้โอนจะต้องแจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับโอนต่อไป


โอนเงินผิด
ภาพจาก เฟซบุ๊ก ศคง. 1213

          อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะกดโอนเงินไปให้ใคร ควรจะตรวจสอบข้อมูลเลขบัญชี หรือรายละเอียดต่าง ๆ ให้ดีก่อนกดทำรายการทุกครั้ง เพราะหากเผลอโอนผิดขึ้นมา ธนาคารมีหน้าที่เพียงแค่ช่วยติดต่อประสานงานไปยังเจ้าของบัญชีอีกฝั่งเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการดึงเงินกลับคืนมาได้ รวมทั้งธนาคารไม่มีหน้าที่ต้องมาจ่ายเงินชดเชยด้วย เนื่องจากถือว่าการทำรายการเกิดขึ้นจากตัวเราเอง 

          2. กรณีถ้ามีคนอื่นโอนเงินผิดบัญชีมาให้เรา

          ถ้ามีคนโทร. มาจากธนาคาร และแจ้งว่ามีการโอนเงินผิดเข้ามาในบัญชีของเรา สิ่งที่ควรทำอันดับแรกก็คือ ให้ใจเย็นแล้วพยายามสังเกตเบื้องต้นก่อนว่ามีอะไรผิดปกติหรือเปล่า เพราะอาจจะเป็นมิจฉาชีพที่ต้องการหลอกเอาเงินของเราไปก็ได้
          สำหรับวิธีสังเกตเบื้องต้น ก็อย่างเช่น

          - ควรจะสอบถามปลายสายให้ชัดเจนว่าโทรมาจากธนาคารอะไร และถามชื่อ เบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อกลับได้

          - ปลายสายที่โทร. มาควรจะต้องแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการโอนเงิน พร้อมทั้งระบุวันที่ เวลาที่ทำรายการผิดมาอย่างชัดเจน มากกว่าพยายามสอบถามข้อมูลส่วนตัวของเรา

          - ปลายสายที่โทร. มาควรจะแจ้งให้เราตรวจสอบรายการบัญชีของตัวเราก่อน ไม่ใช่มาบอกให้เรารีบโอนเงินคืนให้เพียงอย่างเดียว

          หลังจากนั้นเราควรที่จะต้องตรวจสอบบัญชีของเราก่อนว่าในวันและเวลาที่ปลายสายแจ้งเข้ามา มีรายการโอนเงินผิดเข้ามาจริงหรือไม่ ซึ่งเข้าไปเช็กง่าย ๆ ได้จาก Internet Banking เลยทันที หรืออาจจะเข้าไปตรวจสอบกับทางธนาคารเลยก็ได้

          หากพบว่ามีการโอนเงินผิดบัญชีเข้ามาจริง ๆ ก็ควรจะติดต่อไปยังธนาคารเพื่อดำเนินการโอนเงินกลับไปให้เจ้าของบัญชี ไม่เช่นนั้นอาจโดนฟ้องดำเนินคดีเอาได้ง่าย ๆ ซึ่งความผิดจากการนำเงินผู้อื่นไปใช้ เข้าข่ายข้อหายักยอกทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ทั้งนี้ การดำเนินการทำเรื่องโอนเงินคืนของแต่ละธนาคารอาจมีความแตกต่างกัน เช่น อาจต้องเซ็นยินยอมที่สาขาของธนาคาร หรืออาจแจ้งความยินยอมผ่านทางโทรศัพท์ได้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของธนาคารนั้น ๆ เพราะฉะนั้นจึงควรติดต่อธนาคารต้นทาง เพื่อให้เป็นผู้ประสานงานและดำเนินการให้ถูกต้องตามขั้นตอนที่ถูกต้อง
โอนเงินผิด

          3. กรณีมีการโอนเงินผิดบัญชี แต่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของธนาคาร

          ในกรณีเป็นความผิดพลาดจากระบบของธนาคาร ทางธนาคารจะสามารถดำเนินการปรับปรุงข้อมูลเองได้ และหากเกิดความเสียหายอะไร ทางธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

          แต่หากเป็นกรณีความผิดพลาดจากพนักงาน โดยการกรอกเลขบัญชีผิด หรือกรอกจำนวนเงินผิด พนักงานคนนั้นต้องเป็นผู้ดำเนินการติดต่อไปยังผู้รับโอนเอง เพื่อขอให้โอนเงินกลับมา

    
      ทราบวิธีแก้ปัญหาไปแล้ว หากเกิดโอนเงินผิดหรือมีคนโอนเงินผิดให้เราขึ้นมา ก็ไม่ต้องตกใจ และให้มีสติ ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรทำรายการผิดตั้งแต่ต้น เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เงินกลับคืน ยิ่งถ้าปัญหาเกิดจากตัวเราเองที่ทำรายการผิดแล้ว โอกาสยิ่งน้อยไปอีก เพราะฉะนั้น ก่อนทำรายการทุกครั้ง ควรตรวจสอบความถูกต้อง และเช็กรายละเอียดต่าง ๆ ให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแต่ต้นจะดีกว่า


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.)