ในหลักฐานตำราอาหารโบราณ หลายคนอาจเคยพบชื่ออาหารว่า “ต้มโคล้ง ” และ “ต้มโพล้ง” ซึ่งอาจารย์คณิตให้สันนิษฐานว่า น่าจะหมายถึงแกงเดียวกัน โดยยึดข้อมูลที่ระบุไว้ในหนังสือ อัขราภิธานศรับท์ และข้อมูลที่ระบุไว้ในหนังสือ ประติทินบัตร แล จดหมายเหตุ เล่ม 1 ฉบับที่ 6 ร.ศ. 108 ได้ระบุไว้ว่า ต้มโคล้ง มีการตำหัวหอม เยื่อเคย เกลือ พริกไทย ในการทำแกงชนิดหนึ่ง รสเปรี้ยว เค็ม เช่น แกงหัวปลาแห้งต้มกับใบมะขาม เป็นต้น ที่น่าสนใจก็คือมีการตำแบบแกง มีหัวหอม เยื่อเคย เกลือ พริก (พริกไทย) แต่ไม่มีกระเทียมแบบต้นแบบของแกง (ซึ่งมีการตำพริก เคย หอม กะเทียม) ควรเรียกว่าต้มมากกว่าแกง ซึ่งเป็นตัวอย่างที่แสดงถึงปัญหาในการใช้ศัพท์ในอาหารไทย อีกตัวอย่างคือ ต้มโพล้งกุ้ง ในหนังสือ ตำรากับเข้า ร.ศ. 109 ไม่มีกระเทียม และไม่มีการตำ คราวนี้ชัด เลยว่าเป็นต้มไม่ใช่แกง (แกงในอดีต ควรมีการตำ ยกเว้น แกงจืดแบบจีน) เราจึงถอดคำแปลที่ได้ระบุไว้ในอดีตมาเป็น “ต้มโคล้ง ปลาย่างกับใบมะขาม” ปรุงรสอ่อน ๆ ไม่เผ็ด แต่หอม กลมกล่อมชวนกินและซดคล่องคอได้ดีทีเดียว
ส่วนผสม (สำหรับ 4 ที่)
ปลาเนื้ออ่อนย่าง 8 ตัว
ใบมะขามอ่อน ½ ถ้วย
เห็ดฟางผ่าครึ่ง 10 ดอก
หอมเล็กปอกเปลือกบุบพอแตก 3 หัว
ข่าหั่นแว่นบุบพอแตก 5 แว่น
ตะไคร้บุบพอแตกหั่นเป็นท่อน 3 ต้น
พริกขี้หนูแห้งคั่วจนหอม 5 เม็ด
ใบมะกรูดฉีก 4 ใบ
น้ำปลา 3 ช้อนโต๊ะ
น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ
เกลือ ¼ ช้อนชา
น้ำเปล่า 5 ถ้วย
วิธีทำ
คั่วปลาย่างในกระทะหรือปิ้งอีกครั้งเพื่อไล่กลิ่นอับ แล้วสับเป็นท่อน แกะเอาแต่เนื้อ ใส่ลงต้มน้ำให้เดือด ใส่ข่า หอม ตะไคร้ พริกแห้งลงไป ตามด้วยปลาย่าง เห็ดฟาง และใบมะขามอ่อน เมื่อปลาเริ่มเปื่อยดี เติมน้ำปลา เกลือ ชิมรสดู หากชอบเปรี้ยว เติมน้ำมะขามเปียก แล้วใส่ใบมะกรูดฉีก ลงไป รอให้หอม ปิดไฟ ตักใส่ถ้วย รับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ
เคล็ดลับ: หากชอบรสหวาน สามารถเติมน้ำตาลทรายลงไปได้สักเล็กน้อยประมาณ 1 ช้อนชา
ที่มา https://plus.google.com/+KanokonPanyabun/posts/epRcH9sy6kt