สังเกตให้ไว ! อาการโอมิครอน ติดเชื้อแล้วกี่วันถึงแสดงอาการป่วยโควิด

 

   หากพลาดพลั้งไปติดโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอนมา อาการจะแสดงในช่วงกี่วันหลังติดเชื้อ แล้วส่วนใหญ่มีอาการแบบไหนในระยะแรก

          ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับคนรู้จัก คนใกล้ตัวที่เริ่มทยอยโชว์ผลตรวจ ATK เป็นบวก ทำให้หลายคนรู้สึกกังวลว่าจะถึงคิวของเราแล้วหรือยัง ยิ่งหากมีอาการไม่สบายคล้ายไข้หวัดก็ยิ่งตื่นตระหนกกันไปใหญ่ ดังนั้นเพื่อความชัดเจนในอีกขั้น เรามาลองเช็กกันว่าหากได้รับเชื้อโอมิครอนมา อาการแสดงที่สังเกตได้จะเกิดขึ้นเมื่อไร แล้วมีอาการอะไรบ้างที่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็น
โอมิครอน อาการจะแสดงในกี่วันหลังติดเชื้อ
โอมิครอน

          สำหรับประเด็นนี้ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อ้างอิงข้อมูลรายงานวิชาการ SARS-CoV-2 variants of concern and variants under investigation in England ฉบับที่ 36 วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 จาก UK HSA มานำเสนอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า  โควิดสายพันธุ์โอมิครอนมีระยะฟักตัวสั้นกว่าโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ โดยเฉลี่ยแล้วจะเริ่มมีอาการภายใน 3-4 วันหลังได้รับเชื้อมา หรืออาจจะมีอาการภายใน 9 วันก็ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน

          ดังนั้นหากใครเคยสัมผัสคนที่ติดเชื้อโควิดมาก่อนหน้านี้ ก็ควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการตัวเองไปอีก 10 วัน เพื่อความมั่นใจ

โอมิครอน แพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ในช่วงไหน
           ความน่ากลัวของโอมิครอน คือ เชื้อมักจะเกาะอยู่ที่เซลล์ผนังคอ เมื่อพูดคุย ตะโกน ไอ จาม เชื้อก็จะแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว ผู้ติดเชื้อจึงสามารถแพร่กระจายเชื้อได้แม้ไม่แสดงอาการป่วยเลย ซึ่งช่วงเวลาที่จะแพร่เชื้อได้มากที่สุดก็คือช่วง 1-2 วันก่อนแสดงอาการ และหากแสดงอาการแล้วจะแพร่เชื้อได้มากที่สุดในช่วง 2-3 วันหลังเริ่มป่วย
อาการโอมิครอน ติดแล้วจะสังเกตยังไงว่าใช่แน่
โอมิครอน

อาการโอมิครอนส่วนใหญ่ที่พบ ได้แก่

     - มีน้ำมูก 

     - จาม 

     - ปวดศีรษะ

     - อ่อนเพลีย 

     - ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเล็กน้อย

     - เจ็บคอ 

     - อาจมีเหงื่อออกตอนกลางคืน

โอมิครอน

ภาพจาก: สสส.

           ทั้งนี้ ในบางคนอาจมีอาการปวดหลังส่วนล่างด้วย และมักไม่ค่อยมีอาการสูญเสียการรับรสหรือได้กลิ่น เหมือนกับสายพันธุ์อื่น ๆ
          เมื่อได้ทราบดังนี้แล้ว หากใครมีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงสูง ควรตรวจ ATK คัดกรองตัวเองเบื้องต้นทันที่มีอาการป่วยดังกล่าว และหากตรวจแล้วไม่เจอเชื้อ ควรตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง

          ส่วนคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่มีอาการและตรวจ ATK เป็นลบ ควรกักตัวเพื่อสังเกตอาการและตรวจ ATK ซ้ำทุก ๆ 3 วัน ซึ่งหากตรวจ ATK ซ้ำแล้วพบว่าติดเชื้อให้เข้าสู่ระบบการรักษาตามนี้

     1.โทร.สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 

     หรือ 2.ลงทะเบียนด้วยตนเองที่นี่

     หรือ 3. ไลน์ สปสช. โดยเพิ่มเพื่อน พิมพ์ @nhso หรือคลิก

• เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด-19

• เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation)

          หลังจากผู้ติดเชื้อโควิด 19 โทร. แจ้งตามระบบแล้ว จะมีเจ้าหน้าหน้าที่โทร. กลับเพื่อประเมินอาการภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งหากภายใน 6 ชั่วโมงยังไม่มีการติดต่อกลับ ให้โทร. แจ้งที่ สายด่วน สปสช. 1330 อีกครั้ง

โอมิครอน

ภาพจาก : เฟซบุ๊กสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ