ตรวจ ATK เองแล้วผลเป็นบวกควรทำอย่างไร ถ้าตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ติดต่อที่ไหนได้บ้าง มีแนวทางการรักษาโควิดอย่างไร
หากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ผลเป็นบวก ให้ปฏิบัติตัวตามนี้ทันที
1. กักตัว งดออกจากบ้านโดยเด็ดขาด
2. ในกรณีอยู่ร่วมกับผู้อื่น ให้สวมหน้ากากตลอดเวลา
3. แจ้งให้คนใกล้ชิดทราบ
4. แยกตัวเองออกจากบุคคลในบ้าน แยกห้องน้ำ แยกของใช้ส่วนตัวทุกอย่าง รวมถึงแยกถุงขยะ
5. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์เลี้ยง (กรณีเลี้ยงสัตว์)
6. หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ
7. สังเกตอาการตัวเอง และรีบเข้าสู่กระบวนการรักษาทันที
หมายเหตุ : จากประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2565 ได้มีการปรับเกณฑ์ใหม่ โดยหากตรวจ ATK แล้วพบว่าขึ้น 2 ขีด สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้เลย ไม่ต้องไปตรวจ RT-PCR ซ้ำ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ต้องเบิกประกันโควิด 19 จะต้องมีผลตรวจ RT-PCR เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเคลมประกัน
ติดต่อ สปสช. ผ่าน 3 ช่องทางคือ
1. โทร. สายด่วน สปสช. 1330 กด 14
หรือ 2.กรอกข้อมูล ที่นี่
หรือ 3. เข้าทางไลน์ สปสช.โดยเพิ่มเพื่อน @nhso หรือ คลิก• เลือกเมนูบริการเกี่ยวกับโควิด 19
• เลือกลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) โดยจะต้องอยู่ในเกณฑ์พิจารณาของกรมควบคุมโรค ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ Home Isolation ฉบับปรับปรุงวันที่ 4 มกราคม 2565 ไว้ดังนี้ (เกณฑ์อาจปรับได้ตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและด้านการควบคุมโรคประกอบกัน)
- เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดี หรือไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย
- มีอายุน้อยกว่า 75 ปี
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อาจมีโรคร่วมที่สามารถรักษาและควบคุมได้ตามดุลยพินิจของแพทย์
- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
โดยเจ้าหน้าที่จาก สปสช. จะประเมินอาการ พร้อมประสานและจับคู่กับสถานพยาบาล เพื่อให้คำแนะนำและให้การรักษาตามระบบการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่บ้าน แต่กรณีผู้ป่วยมีอาการปานกลาง หรือมีปัจจัยเสี่ยง สปสช. จะส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลสนาม, Hospitel หรือโรงพยาบาล ต่อไป
กรณีเป็นผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39
สามารถโทร. 1506 กด 6 กด 7 ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. (350 คู่สาย) จะมีรถมารับถึงบ้านใน 3 ชม. และรักษาฟรีทุกค่าใช้จ่าย
1. เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง
2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาที ในผู้ใหญ่
3. Oxygen Saturation ต่ำกว่า 94%
4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตามดุลยพินิจของแพทย์
5. สำหรับในเด็ก หากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือรับประทานอาหารน้อยลง
ช่องทางอื่น ๆ
* ผู้ติดเชื้อใน กทม. สามารถโทร. เบอร์สายด่วนของแต่ละเขต หรือ โทร. สายด่วนศูนย์เอราวัณ 1669 กด 2 หรือเพิ่มเพื่อนทาง Line @BKKCOVID19CONNECT หรือคลิก
* ผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด สามารถโทร. Call Center ของจังหวัดหรืออำเภอ (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัด)
* กรมควบคุมโรค สายด่วน 1422
* กรมการแพทย์ สายด่วน 1668
* เพจ เส้นด้าย หรือ โทร. 08-1591-9714, 08-0660-9998
* เพจ เราต้องรอด หรือ โทร. 0-2027-8808
* เพจ Preeyada Sitthachai (คุณแก้มบุ๋ม ปรียาดา)
* เพจ องค์กรทำดี หรือ โทร. 08-6431-5579
* เพจมูลนิธิกระจกเงา หรือ โทร. 06-1909-1840
สำหรับคนที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ผลเป็นบวก แล้วเกิดความสงสัยลองไปตรวจด้วยวิธี RT-PCR แต่กลับไม่พบว่าติดเชื้อ อาจเป็นเพราะผลบวกปลอมจาก ATK ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้
* มีการปนเปื้อนเชื้อโรคจากพื้นที่ที่ทำการทดสอบ หรือจากมือที่ปนเปื้อนเชื้อของเราเอง
* การติดเชื้อไวรัสจุลชีพอื่น ๆ
* ตรวจ ATK ไม่ถูกวิธี เช่น อ่านผลเกินเวลาที่กำหนด
* สภาพสิ่งส่งตรวจไม่เหมาะสม
* ชุดตรวจไม่ได้มาตรฐาน โดยสามารถเช็กรายชื่อชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจาก อย. ได้ ที่นี่
หากผลตรวจ ATK เป็นลบ ทั้งที่ตัวเองรู้สึกไม่สบาย เช่น เจ็บคอ ไอ มีน้ำมูก เป็นหวัด มีไข้ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เหงื่อออกตอนกลางคืน ปวดกล้ามเนื้อ ฯลฯ หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง เพราะสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิดแม้จะไม่มีอาการป่วย อาจเกิดได้จากกรณี เช่น
* เพิ่งติดเชื้อระยะแรก ๆ ร่างกายจึงมีปริมาณเชื้อต่ำ
* อาจตรวจ ATK ผิดวิธี แหย่จมูกไม่ถูกต้อง
* ปฏิบัติตามขั้นตอนวิธีทดสอบไม่ถูกต้อง เช่น ไม่อ่านผลในช่วงเวลาที่กำหนด ปริมาณตัวอย่างที่หยดไม่เป็นไปตามที่กำหนด
ควรทำอย่างไร
ในกรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ แต่ตรวจ ATK แล้วไม่พบเชื้อ กรณีนี้ก็ควรระมัดระวังตัวและปฏิบัติตามนี้
* แยกกักตัว หากอยู่ร่วมกับคนอื่นควรสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แยกห้องน้ำและของใช้
* ตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วัน
* หากมีอาการรุนแรง เช่น อุณหภูมิ 37.5 องศาเซลเซียส ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว แต่ตรวจ ATK แล้วยังไม่พบเชื้ออีก ควรไปตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำที่โรงพยาบาลอีกครั้ง
ณ ปัจจุบันหากติดเชื้อโควิดสามารถเข้ารับการรักษาฟรีตามสิทธิที่ตัวเองมีนะคะ ดังนั้นหากตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ก็สามารถติดต่อตามช่องทางเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาตัวต่อไป
ขอบคุณภาพจาก : เฟซบุ๊ก สปสช., สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, กระทรวงสาธารณสุข, กรมควบคุมโรค
ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก สปสช., โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, กรมควบคุมโรค, กรมการแพทย์, กรุงเทพธุรกิจ, กระทรวงสาธารณสุข