เช็กลิสต์ ! บริจาคเงินแบบไหน...ลดหย่อนภาษี 2563 ได้ 2 เท่า

 

สรุปรายการบริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี 2563 ลดภาระภาษีแบบคุ้ม ๆ ถึง 2 เท่า รีบมาเช็กเงื่อนไข ก่อนยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วงต้นปี 2564

          มนุษย์เงินเดือนและผู้มีรายได้ที่กำลังวางแผนจัดการภาษีกันอยู่ บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เงินบริจาค หรือ เงินทำบุญ สามารถเป็นตัวช่วยลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน แถมบางรายการลดหย่อนได้ถึง 2 เท่าอีกด้วย หมายความว่า บริจาคไป 1,000 บาท นำมาลดหย่อนได้ถึง 2,000 บาทเลยทีเดียว ว่าแต่จะมีรายการบริจาคอะไรบ้างนั้น ที่ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า เรารวบรวมมาให้แล้ว  

1. บริจาคเพื่อการศึกษา

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

          การบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ โดยเป็นการบริจาคเพื่อการใช้จ่ายสำหรับ 3 รายการนี้

          - อาคารสถานที่ เป็นการจัดหาหรือจัดสร้างอาคาร หรือที่ดินให้แก่สถานศึกษาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

          - สื่อการเรียน การสอน เป็นการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษา แบบเรียน ตำรา หนังสือทางวิชาการ สื่อ และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 

          - บุคลากร เป็นการจัดหาครู อาจารย์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิทางการศึกษา ให้กับสถานศึกษา


          ทั้งนี้ ผู้ที่บริจาคสนับสนุนการศึกษา เพื่อใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี 2 เท่า จะต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) เท่านั้น จึงจะสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่า ไม่เช่นนั้นจะสามารถลดหย่อนภาษีได้เพียง 1 เท่าตามที่จ่ายจริง อย่างไรก็ตาม การบริจาคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นี้ มีข้อดีตรงที่เราไม่ต้องเก็บใบเสร็จการบริจาคมาเป็นหลักฐานเพื่อยื่นภาษีอีกต่อไป เพราะข้อมูลการบริจาคของเราจะส่งตรงถึงกรมสรรพากรเลย



2. บริจาคให้แก่สถานพยาบาลของรัฐ

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี
ภาพจาก PongMoji/Shutterstock

          นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เราสามารถบริจาคเงินให้โรงพยาบาลของรัฐโดยตรงได้แล้ว เพื่อนำไปหักลดหย่อนภาษี 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องบริจาคผ่านทางมูลนิธิต่าง ๆ ของโรงพยาบาล 



3. สนับสนุนการกีฬา 

          ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ หากเป็นการบริจาคเงินให้หน่วยงานด้านกีฬาที่สังกัดสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย

          • ตรวจสอบรายชื่อหน่วยงานด้านกีฬาที่หักลดหย่อนได้ 2 เท่า  


4. กองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

          สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ ซึ่งต้องเป็นการบริจาคให้กองทุนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น เพื่อสนับสนุนและจูงใจให้มีการบริจาคเงินให้แก่กองทุนพัฒนาครูให้มีคุณภาพและมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง

5. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก

          สำหรับการบริจาคเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก รวมทั้งการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก็สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ 


6. โครงการฝึกอบรมเยาวชนของสถานพินิจ

บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

          เงินบริจาคในโครงการฝึกอบรมอาชีพและการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบำบัด แก้ไข ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ของกระทรวงยุติธรรม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ 



7. กองทุนยุติธรรม

          นำมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่เมื่อรวมกับเงินสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ สำหรับเงินบริจาคเข้ากองทุนยุติธรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน


8. การจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน


บริจาคเงิน ลดหย่อนภาษี

          สามารถหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่าเช่นกัน แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้วต้องไม่เกิน 10% ของเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ โดยต้องเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่านให้แก่ สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชน หอสมุด ห้องสมุด หรือแหล่งหนังสืออื่น ๆ ที่ให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชน รวมถึงห้องสมุดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเองด้วย

ใช้หลักฐานอะไรในการขอลดหย่อนภาษี

          - กรณีเป็นการบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาที่ใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษี 2 เท่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ต้องเป็นการบริจาคผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น ซึ่งข้อมูลการบริจาคจะถูกบันทึกและส่งให้กรมสรรพากรโดยตรง โดยที่เราไม่ต้องเก็บหลักฐาน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบอนุโมทนาบัตร ไว้ยื่นภาษี

          - กรณีเป็นการบริจาคเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนการศึกษา ยังสามารถใช้ใบเสร็จรับเงินบริจาค ใบอนุโมทนาบัตร ที่ระบุชื่อผู้บริจาคชัดเจนตรงกับชื่อ-นามสกุลของผู้เสียภาษี เพื่อนำมาใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนภาษีได้ หรือสามารถบริจาคผ่านระบบ e-Donation ก็ได้เช่นกัน

บริจาคผ่าน e-Donation ได้อย่างไร

          ก่อนอื่นต้องตรวจสอบว่าหน่วยงานที่เราจะบริจาค ไม่ว่าจะเป็นสถานศึกษา ศาสนสถาน โรงพยาบาล องค์การ สถานสาธารณกุศลต่าง ๆ มีระบบ e-Donation หรือไม่


          ข้อดีของระบบนี้ก็คือ เมื่อเราบริจาคเงินก็สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เลย โดยไม่ต้องเก็บหลักฐานการบริจาคมายื่นภาษี จึงไม่ต้องกังวลว่าเอกสารต่าง ๆ จะสูญหาย และยังช่วยให้เราได้รับเงินคืนภาษีได้เร็วขึ้นด้วย โดยสามารถบริจาคผ่าน e-Donation และแจ้งความประสงค์จะใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 ช่องทางคือ

          - กรณีบริจาคด้วยเงินสดที่หน่วยรับบริจาค ให้แจ้งหน่วยรับบริจาคบันทึกข้อมูลการบริจาคบนระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ทันที

          - กรณีบริจาคผ่านธนาคารพาณิชย์โดยการโอนเงินด้วย QR Code ให้สังเกตแผ่นป้าย QR Code ต้องมีคำว่า "e-Donation" และชื่อบัญชีเงินฝาก "หน่วยรับบริจาค" เมื่อสแกน QR Code แล้ว จะมีข้อความแจ้งความประสงค์ให้ธนาคารส่งข้อมูลการบริจาคของเราให้กรมสรรพากร เพื่อขอหักลดหย่อนภาษี

ตัวอย่าง QR Code ที่สามารถบริจาคผ่าน e-Donation เพื่อลดหย่อนภาษีได้
 
ลดหย่อนภาษี


          ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบยอดเงินบริจาคผ่าน e-Donation ของเราได้ที่ edonation.rd.go.th


วิธีคำนวณเงินบริจาคเพื่อใช้ลดหย่อนภาษี

          การบริจาคเงินเพื่อลดหย่อนภาษีนั้น จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินบริจาค โดยสามารถคำนวณง่าย ๆ ด้วยตัวเอง ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ 

          ตัวอย่างเช่น : นาย A มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท บริจาคเงินเพื่อการศึกษา 10,000 บาท และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ดังนี้

          - หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท 

          - หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท  

          - หักค่าประกันสังคม 5,850 บาท

          - หักค่าลดหย่อนบุตร 1 คน 30,000 บาท

          - หักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต 30,000 บาท 

          ดังนั้น เมื่อหักค่าลดหย่อนข้างต้นแล้ว นาย A จะเหลือเงินได้สุทธิเท่ากับ 374,150 บาท 

          จากนั้นให้นำรายได้สุทธิหลังหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ ของนาย A จำนวน 374,150 บาท ไปคำนวณลดหย่อนภาษีเงินบริจาค นั่นคือ นาย A จะหักลดหย่อนภาษีเงินบริจาค ได้ไม่เกิน 10% ของ 374,150 บาท หรือไม่เกิน 37,415 บาท 

          ดังนั้น การที่นาย A บริจาคเงินเพื่อการศึกษาไป 10,000 บาท ซึ่งสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ จะทำให้นาย A สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 20,000 บาท หรือหากนาย A อยากลดหย่อนภาษีแบบคุ้มค่าที่สุด ก็สามารถเพิ่มเงินบริจาคเป็น 18,707.50 บาทได้ ก็จะช่วยให้ลดภาระภาษีสูงสุดที่ 37,415 บาท   


          ทั้งหมดนี้ก็เป็นรายการบริจาคเงินลดหย่อนภาษี 2 เท่า ที่เรารวบรวมมาให้แบบครบถ้วน ใครที่ไม่ได้บริจาคผ่านระบบ e-Donation ก็อย่าลืมเก็บหลักฐานใบเสร็จไว้ยื่นต่อกรมสรรพากรด้วยนะ


***หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563


ขอบคุณข้อมูลจาก