ธรรมะเตือนสติ! หากคุณกำลังคิดจะ “นอกใจ” พร้อมหลักธรรมสร้างครอบครัวให้เป็นสุข จากท่าน ว.วชิรเมธี

“ใคร ๆ ก็รู้ว่าการละเมิดพฤติกรรมทางเพศ นอกใจสามีหรือภรรยา ด้วยการ มีกิ๊ก มีชู้ เป็นสิ่งไม่ดี แต่กระนั้นคนก็ยังพากันละเมิดและสร้างปัญหากันไม่รู้จบ”
พระมหาวิชรเมธี หรือ ว. วชิรเมเธี กล่าวถึงปัญหามือที่ 3 ในสังคมไทย พร้อมอธิบายสาเหตุที่คนชอบมีกิ๊กมีชู้กันว่าเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้
  1. ขาดความละอายชั่วกลัวบาป
  2. ขาดสติสัมปชัญญะ
  3. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย
  4. ได้รับอิทธิพลตะวันตก ที่มองเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์หรือนอกใจคนรักเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเป็นเรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน
  5. พลังทางศีลธรรมในสังคมไทยอ่อนแอ โดยเฉพาะความเชื่อในระบบ ทำดีได้ดี หรือทำชั่วได้ชั่ว หรือกฎแห่งกรรมมีความจืดจางลงไปมาก
ในทัศนะของอาตมาภาพ ปัจจัย 5 ข้อนี้แหละ ที่เป็นเหตุให้การละเมิดจริยธรรมทางเพศมีมากขึ้น และกลายเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทยไป ลำพังแค่การคิดนอกใจภรรยาถือว่าไม่ผิด แต่ถือว่าไม่ควร ไม่ผิดเพราะยังไม่มีการลงมือ แต่ไม่ควรเพราะการคิดเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรม มนุษย์เราทำเพราะว่าเราคิด เราคิดอย่างไรเราก็จะทำอย่างนั้น
ฉะนั้น เมื่อเราเริ่มมีความคิด แนวโน้มที่จะละเมิดมันได้เกิดขึ้นแล้วในใจของเรา ทันทีที่คิด เราต้องรู้เท่าทัน และพาตัวเองออกมาจากสภาพความคิดเช่นนั้นให้ได้ ผู้ที่ละเมิดจริยธรรมทางเพศต่อคู่ครองและคู่รักของตนนั้น จะได้รับผลกรรมดังต่อไปนี้ …
  1. ผลทางจิตใจมีความหวาดระแวงกลัวว่าจะถูกจับได้ ความสุขที่มีแท้ที่จริงแล้วคือความทุกข์ที่รอผลิออกดอกผลต่างหาก ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริงแต่อย่างใด
  2. ผลต่อบุคลิกภาพทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะรู้อยู่ว่าตัวเองเป็นวัวสันหลังหวะ
  3. ผลต่อสถาบันครอบครัวอาจทำให้สถาบันครอบครัวเกิดความร้าวฉาน แตกแยก และหย่าร้างในที่สุด
  4. ผลทางสังคมก่อให้ถูกนินทาว่าร้าย การโพนทะนา เสื่อมเสียชื่อเสียงที่ก่อมาทั้งชีวิต
  5. ผลทางหน้าที่การงานอาจถูกบริษัทเรียกไปว่ากล่าว ตักเตือน หรือแม้กระทั่งไล่ออก
แบบฝึกหัดเรียกจิตสำนึก ก่อนคิดนอกใจ
ผู้ที่อยู่ในช่วงหัว เลี้ยวหัวต่อ ต่อการหมิ่นเหม่ละเมิดจริยธรรมทางเพศ เพราะว่าเด็กมันยั่ว หรือว่าใจตรงกัน หรือว่าสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยก็ตาม ถ้าคุณกำลังยืนอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ เท้าของคุณข้างหนึ่งเหยียบอยู่ในนรก ข้างหนึ่งเหยียบอยู่บนสวรรค์ ขอให้ถามตัวเองดังต่อไปนี้ …
  1. เราพร้อมที่จะยอมรับผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นไหม
  2. ถามตัวเองว่ามั่นใจไหมว่า สิ่งที่เราจะกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ทุกขั้นตอน
  3. ถามตัวเองว่าคุณพร้อมไหมที่จะรับผลกรรมซึ่งจะตามมาหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบัน อนาคตหรือแม้กระทั่งในภพหน้า
  4. คุณมั่นใจแล้วหรือว่าคุณสามารถกุมความลับเอาไว้ได้อย่างมิดชิด
  5. คุณพร้อมหรือไม่ ถ้าหากลูกเมีย เกิดรู้ขึ้นมาว่าคุณคบคิดทรยศต่อเขา
  6. คุณพร้อมที่จะเสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติคุณที่สั่งสมมาตลอดชีวิตหรือไม่
ถ้าถามตัวเองด้วยประการดังกล่าวแล้ว คุณคิดว่าบริหารเหตุปัจจัยที่จะเกิดได้ทั้งหมด ก็เชิญก้าวล้ำต่อไป แต่ถ้าถามตัวเองว่าแล้วรู้สึกว่าผลที่จะเกิดขึ้นมาแล้วหนักหนาสาหัส ก็รีบถอดถอนตัวเองออกมา แต่คนโดยมากจะถามตัวเองไปได้แค่ 3 ข้อ ก็รีบวางมือ เพราะเขาจะเกิดการไตร่ตรองมองตนอย่างลึกซึ้ง แต่ถ้าถามตัวเองไปจนถึง 6 ข้อ แล้วยังลงมือทำอยู่ แสดงว่าคุณได้สูญเสียสามัญสำนึกไปแล้ว
มนุษย์เรานั้นสูญเสียอะไรก็ไม่ร้ายแรงเท่ากับการสูญเสียสามัญสำนึก คุณสูญเสียเงิน คุณหาใหม่ได้ คุณสูญเสียภรรยา คุณก็หาใหม่ได้ คุณสูญเสียงาน คุณก็สมัครงานใหม่ได้ แต่ถ้าคุณสูญเสียสามัญสำนึก ก็เท่ากับว่าคุณได้สูญเสียความชอบธรรมที่จะเป็นมนุษย์ที่ดีกับเขาไปแล้ว

หลักธรรมสร้างครอบครัวให้อบอุ่นและเป็นสุข
สาเหตุที่สถาบันครอบครัวมีปัญหาแตกแยกหย่าร้างสูง เนื่องมาจากขาดคุณสมบัติหลักๆ 4 ข้อด้วยกัน
  1. ขาดความซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน ในช่วงแรกรักต่างก็รักและภักดีต่อกัน พอมาเป็นสถาบันครอบครัว ความรักนั้นจืดจางลงไปตามวันเวลา ต่างฝ่ายต่างมีเรื่องซ่อนเร้นระหว่างกัน แทนที่จะรักเดียวใจเดียว ก็เป็นรักคนเดียว แต่ว่ามีคนอื่นสำรองเอาไว้ มนุษย์เรานั้นทันทีที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อกันเค้าลางแห่งความหายนะมันก็เริ่มต้นแล้ว
  2. ขาดความอดทนที่จะร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วยกัน พอแต่งงานอยู่กินด้วยกัน แล้วมีปัญหาชีวิตคู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากสาเหตุใดก็ตาม อยู่ร่วมกันแล้วมีแต่ความทุกข์ มีแต่ปัญหา มีแต่ความยุ่งเหยิงวุ่นวายใจ ซึ่งในขณะที่ใช้ชีวิตโสดไม่เป็นอย่างนั้นก็เริ่มรับไม่ได้ พอรับไม่ได้ แล้วสั่งสมหมักหมมมากเข้า ก็เกินขีดอดทน สุดท้ายก็เลิกร้างห่างเหินกันไป ต่างคนต่างไปทางใครทางมัน
  3. ขาดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เมื่ออยู่ด้วยกันแล้วพอมีปัญหาแทนที่จะยืดหยุ่น แทนที่จะมีการปรับตัว แทนที่จะมีการให้โอกาส ต่างฝ่ายต่างก็ถือเอาอัตตาหรือตัวตนของตัวเองเป็นใหญ่ ไม่ยอมเรียนรู้ไม่ยอมฟังกัน เมื่อไม่ยอมยืดหยุ่น ต่างคนก็ต้องต่างไป ทางใครทางมันเช่นเดียวกัน
  4. ขาดการเข้าใจในการสื่อสารระหว่างกันและกัน เมื่อปัญหา ไม่ยอมเจรจาสันติภาพ ใช้วิธีนิ่ง ใช้วิธีนินทา ใช้วิธีสร้างโลกของตัวเองซ้อนขึ้นมาในโลกของครอบครัว เมื่อไม่สื่อสารกัน ปัญหาก็ยังคงเป็นปัญหา สุดท้ายเมื่อเหตุการณ์รุนแรงถึงที่สุด ก็ต้องเลิกรากันไป หลายคนที่เลิกร้างกันไป ไม่ใช่หมายความว่าไม่รักกัน แต่ขาดการเจรจาหรือขาดการสื่อสารที่ดีระหว่างกัน
ฉะนั้นใครก็ตามอยู่กันเป็นครอบครัว ควรจะนำหลักธรรมดังกล่าวไปลองประยุกต์ใช้ในชีวิตให้มากที่สุด หลักธรรมนี้เปรียบเสมือนน้ำ น้ำนั้นทำทุกอย่างเชื่อมหลอมรวมทุกสิ่งทุกอย่างเข้าด้วยกัน ฉันใด หลักธรรมมะก็เชื่อมคนในครอบครัวให้อยู่ด้วยกันอย่างสนิมสนมกลมเกลียวด้วยกันฉันนั้น

ขอขอบคุณ : first-mag , pexels