จิตแพทย์เด็ก เผยผลวิเคราะห์สภาพจิตใจ พร้อมแนะวิธีเยียวยาจิตใจ 13 ชีวิต หลังออกจากถ้ำหลวง



จิตแพทย์เด็ก เผยผลวิเคราะห์สภาพจิตใจ 13 ชีวิตทีมหมูป่า จากบทสนทนา นาทีพบกับนักดำน้ำชาวอังกฤษ พร้อมแนะนำวิธีดูแลสภาพจิตใจ ภายหลังทั้งหมดออกมาจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน

จากบทสนทนาในวินาทีแรกระหว่างเด็กๆ ทีมหมูป่ากับนักดำน้ำชาวอังกฤษ ที่เข้าไปพบน้องๆ เมื่อคืนวันที่ 2 ก.ค. โดยเด็กๆ กล่าวขอบคุณ พร้อมถามไถ่ว่าวันนี้วันอะไร จะได้ออกไปเมื่อไหร่ พวกเราหิวนั้น สะท้อนสภาพจิตใจ และความเป็นอยู่ของเด็กๆ ในช่วง 10 วันที่ติดอยู่ในถ้ำอย่างไรบ้าง จิตแพทย์เด็กร่วมให้มุมมอง






พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า จากที่เราเห็นการพูดโต้ตอบของเด็กๆ และผู้ที่ไปพบนั้นไม่สามารถประเมินได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเด็กๆ ต้องการอะไร พยายามจะสื่ออะไร แต่รู้สึกดีใจแน่นอน ทั้งคนไปพบและเด็กๆ เป็นเพราะสภาวะจิตใจของเด็กที่ต้องติดอยู่ในถ้ำเป็นเวลานานนั้นจะมีอารมณ์ที่เปลี่ยนไปมา

อาจจะมีช่วงรู้สึกโกรธว่าทำไมชีวิตต้องมาเจออะไรแบบนี้ อาจจะมีช่วงรู้สึกหมดหวังท้อแท้กับชีวิต และอาจจะรู้สึกมีหวังขึ้นมาอีก เชื่อว่าต้องมีคนมาช่วย หรืออาจจะมีแม้กระทั่งการคิดต่อรองชีวิต ภาวนา คิดว่าถ้าฉันออกไปได้จะไม่ทำอีก จะเป็นคนดี อะไรก็ตามแต่ เพราะเด็กแต่ละคนมีผลกระทบในจิตใจไม่เท่ากัน พื้นฐานชีวิต ภาวะอารมณ์ไม่เท่ากัน



พญ.วิมลรัตน์ให้คำแนะนำว่า หลังจากเจ้าหน้าที่พาน้องๆ ออกมาได้ สิ่งแรกที่ต้องทำคือดูแลร่างกายให้แข็งแรงก่อน ต่อมาจึงประเมินสภาพจิตใจเด็ก โดย

1.เด็กต้องไม่ถูกถามซ้ำๆ ตอกย้ำความรู้สึกว่าช่วงเวลานั้นโหดร้ายเพียงใด

2.ต้องทำความเข้าใจกับเด็กว่าที่เราทำไม่ได้แปลว่าน้องๆ ป่วยทางจิต น้องๆ อาจจะมีเพียงแค่ภาวะเครียดในช่วงแรก หรือถ้าเกินเดือนแล้วยังไม่โอเคก็ต้องดูแลกันต่อ

3.ต้องทำให้เด็กกลับสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด ให้เขารู้สึกว่ากลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้

4.ต้องดูแลสภาพจิตใจครอบครัวด้วย เพราะลูกหลานหายไปเป็นเวลานานครอบครัวอาจจะโทษตัวเองว่าเพราะความผิดของครอบครัวที่ดูแลไม่ดี และ

5.จัดการโซเชียลรอบตัวน้องๆ ไม่ให้จมอยู่กับโซเชียลที่อาจจะมีทั้งคนชื่นชม คนซ้ำเติมต่างๆ นานา

"หากถามว่าจะต้องสอนเด็กๆ อย่างไรให้ได้บทเรียน สิ่งที่พวกเขาเจอมาหนักหนามาก ไม่จำเป็นต้องสั่งสอนให้สำนึกอะไรอีกแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าเป็นเราพลาดทำเรื่องให้คนมากมายเดือดร้อนทั้งที่ไม่ตั้งใจ เราก็ต้องรู้สึกผิด รู้สึกไม่ดี เสียใจมากพออยู่แล้ว การที่เด็กๆ ต้องเผชิญหน้าเหตุการณ์ต่างๆ ในถ้ำเป็นบทเรียนที่มากเพียงพอแล้ว รู้อยู่แล้วว่าตนเองผิดพลาด สิ่งเหล่านี้จะเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ของเด็กๆ แน่นอน" พญ.วิมลรัตน์กล่าว

ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา รักษาการหัวหน้าศูนย์พัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มศว กล่าวว่า เพียงแค่ดูคลิปไม่กี่นาที ไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กทั้งหมดมีสภาพจิตใจอย่างไร ตรงนี้ต้องอาศัยทีมประเมิน สิ่งแรกที่เห็นคือพูดคุยกับคนที่เข้าไปพบ เด็กต้องมีความรู้สึกดีที่ได้เจอผู้คน หลังจากอยู่อย่างนั้นเป็นระยะเวลานาน ความหวังที่เคยมีในจิตใจประสบผล

การบอกว่า I am very hungry. เป็นการบอกความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อที่จะให้ร่างกายอยู่ต่อได้ มีแรงต่อได้ แข็งแรงขึ้น การถามว่า What day? อาจจะเพราะอยากรู้ว่าติดอยู่ในนี้มากี่วันแล้ว การได้เจอผู้คนเหมือนได้รู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัย



"โชคดีที่เด็กๆ ติดอยู่กันเป็นกลุ่ม จะรู้สึกดีกว่าการอยู่คนเดียว เพราะจะไม่อ้างว้าง โดดเดี่ยว การอยู่เป็นกลุ่มจะมีการให้กำลังใจกัน การมีโค้ชอยู่ด้วยจะทำให้เด็กไม่เกิดอาการตระหนก อย่างน้อยก็ยังมีความหวัง ความรักความผูกพันกันของเด็กจะทำให้มีแรง ความหวังทำให้เกิดแรงผลักดัน น้องๆ ก็มีความหวังว่าจะรอด เจ้าหน้าที่ก็มีความหวังว่าจะต้องเจอน้องๆ ส่วนอาการทางสภาพจิตต่างๆ ของเด็กต้องให้ทีมแพทย์ประเมิน อาการส่วนนี้ต้องดูหลายบริบทร่วมกัน" ดร.จิตรากล่าว

ขณะที่ น.พ.ธรณินทร์ กองสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ กล่าวหลังดูภาพคลิปวิดีโอว่า ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เนื่องจากเด็กๆ บางคนยังมีรอยยิ้ม พูดโต้ตอบกับทีมค้นหาได้ แสดงว่าเด็กยังมีสติ มีขวัญกำลังใจที่ดีในระดับหนึ่ง

อาจเป็นผลมาจากการเผชิญเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นกลุ่มใหญ่ ทุกคนเป็นนักกีฬา ผ่านการฝึกฝนสร้างความแข็งแรงทั้งทางกายและจิตใจ มีความหวัง และมีโค้ชซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่สุดเป็นผู้นำ จึงสามารถดูแลช่วยกันประคับประคองปลอบใจซึ่งกันและกัน ช่วยคลายทุกข์ลงได้มาก อย่างไรก็ตามต้องประเมินสภาวะสุขภาพจิต ภายหลังจากอาการทางกายคงที่และปลอดภัยแล้ว

ที่มา : ข่าวสด