เช็คให้ดีก่อนสวมใส่ผ้าทุกครั้ง ถ้าเจอไข่ลักษณนี้ ตรวจดูตัวแม่มันให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะเจ็บปวดน้ำตาไหล

ในช่วงหน้าร้อนเป็นช่วงเวลาที่แมลงชอบออกมามากที่สุด และอากาศร้อนๆแบบนี้ ทุกคนนอกจากต้องปวดหัวกับปัญหาเกี่ยวกับแสงแดดแล้ว ยังจะต้องดูแลตัวเองให้ดีไม่ให้โดนแมลงกัด เมื่อเร็วๆนี้ มีชาวเน็ตไต้หวันคนหนึ่งได้พบเจอว่า บนเสื้อที่ตากอยู่นอกบ้านนั้นมี “ไข่มวนลำไย” (Tessaratoma papillosa Drury) มากมาย

มวนลำไยหรือแมงแกง ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ มีขนาดยาวประมาณ 25 – 31 มม. และส่วนกว้างตอนอก กว้างประมาณ 15 – 17 มม. ตัวเต็มวัยตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มตามใบหรือเรียงตามก้านดอก ไข่กลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 14 ฟอง ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน ประมาณ 7 – 14 วัน ตัวอ่อนจะมีสีแดงมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ระยะตัวอ่อนกินเวลาประมาณ 61 – 74 วัน จึงจะเจริญออกมาเป็นตัวเต็มวัย นอกจากเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญที่สุดของลำไยแล้ว ยังเข้าทำลายลิ้นจี่เช่นเดียวกัน

ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ช่อดอกและผลอ่อนทำให้ใบอ่อนและช่อดอกจะแห้ง และร่วง แมลงชนิดนี้พบตลอดทั้งปีในแหล่งปลูกลำไยทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบการระบาดเป็นประจำทุกปี ทำความเสียหายให้กับลำไยในระยะที่ออกดอกและติดผล คือในช่วงเดือนมกราคม ถึงสิงหาคม จำนวนไข่และตัวอ่อนมีปริมาณสูงสุดเดือนมีนาคม และเมษายน ตามลำดับ ส่วนตัวเต็มวัยพบปริมาณสูงสุด 2 ระยะ คือ เดือนกุมภาพันธ์ และกรกฎาคม