ประกันสังคม มาตรา 40 เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่อะไรบ้าง ในปี 2560 !

  ประกันสังคม มาตรา 40 ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ให้กับผู้ประกันตน เพื่อหวังดึงกลุ่มแรงงานนอกระบบ เข้าระบบประกันสังคมมากขึ้น วันนี้มาดูกันว่า มาตรา 40 คืออะไร มีสิทธิประโยชน์อะไร และครอบคลุมความคุ้มครองส่วนไหนบ้าง
 

          ถือเป็นข่าวดีสำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้า วินจักรยานยนต์รับจ้าง เกษตรกร หรือกลุ่มแรงงานอิสระอื่น ๆ จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติกฎหมาย เพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 งานนี้บอกได้เลยว่า เตรียมรับประโยชน์กันเต็ม ๆ เพราะการปรับปรุงครั้งนี้ จะทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 มีสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ซึ่งเป็นแรงงานในระบบมากขึ้นนั่นเอง

          โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้เพิ่มขึ้นนั้นมีทั้งด้านการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยแล้วต้องพักรักษาตัวก็จะได้เงินเพิ่มขึ้นมีการสนับสนุนกรณีทุพพลภาพและค่าทำศพ รวมทั้งยังทำให้ผู้ประกันตนมีเงินออมหลังเกษียณด้วยซึ่งการเพิ่มสิทธิประโยชน์นี้ ก็เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานนอกระบบกับในระบบและดึงแรงงานนอกระบบเข้าระบบประกับสังคมมากขึ้น 
          ส่วนใครที่ยังไม่เข้าใจว่าสิทธิประโยชน์ประกันสังคม มาตรา 40 มีอะไรบ้าง และยังลังเลว่าจะสมัครดีไหม วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากกันว่า ประกันสังคม มาตรา 40 คุ้มครองอะไรบ้าง อยากสมัครต้องทำอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง มาดูกันเลย 

          ประกันสังคมมาตรา 40 คืออะไร

          ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับประกันสังคม มาตรา 40 กันก่อนว่าคืออะไร โดยจุดมุ่งหมายของประกันสังคมมาตรา 40 คือ การขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ รวมถึงผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร รวมไปถึง พนักงานอิสระต่าง ๆ ได้มีหลักประกันในชีวิตนั่นเอง ส่วนค่ารักษาพยาบาลนั้นสามารถใช้บัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคได้


ประกันสังคม

          ประกันสังคม มาตรา 40 ใครสามารถสมัครได้บ้าง

          ผู้ที่จะสมัครประกันสังคม มาตรา 40 ได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

          1. เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ

          2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60ปีบริบูรณ์

          3. ต้องเป็นบุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนตามประกันสังคมมาตรา 33 และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 (บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนในมาตรา 33 มาก่อนแล้วลาออกแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้)

          4. ไม่เป็นข้าราชการหรือบุคคลที่ถูกยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม

          5. บุคคลพิการที่สามารถรับรู้สิทธิประกันสังคม

ประกันสังคม

          ทางเลือกในการจ่ายเงินสมทบ และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

          ปัจจุบันผู้ประกันตนสามารถเลือกรูปแบบจ่ายเงินสมทบได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ จากเดิมที่เลือกได้เพียง 2 แบบ
          ทางเลือกที่ 1 : ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นจ่ายสมทบ 100 บาท ซึ่งรับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ และเงินค่าทำศพ

          สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ          1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาล เพิ่มให้เป็น 300 บาท/วัน จากเดิม 200 บาท/วัน กำหนดไม่เกิน 30 วันต่อปี รวมถึงได้เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีถ้าไม่ได้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล (ผู้ป่วยนอก) แต่มีใบรับรองแพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี และกรณีแพทย์สั่งให้หยุดพักไม่เกิน 3 วัน จะได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี

          2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ยังให้สิทธิตามเดิม คือ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาท/เดือน เป็นเวลานาน 15 ปี โดยมีเงื่อนไข คือ

          - จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาท/เดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาท/เดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาท/เดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาท/เดือน


          3. ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 20,000 บาท และได้เพิ่มเงินสงเคราะห์ให้อีก 3,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 60 เดือน

ประกันสังคม

         ทางเลือกที่ 2 :
ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ และเงิน บำเหน็จชราภาพ

          สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ          1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพและเงินค่าทำศพจะได้รับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1

          2. ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพยังคงได้รับเหมือนเดิมซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ซึ่งเงินบำเหน็จจะคำนวณจากเงินที่รัฐบาลอุดหนุนเดือนละ 50 บาท นำมาคูณด้วยระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบและบวกด้วยเงินผลกำไรที่สำนักงานประกันสังคมนำเงินส่วนนี้ไปลงทุน

ประกันสังคม

          ทางเลือกที่ 3 : เป็นตัวเลือกที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แรงงานนอกระบบ ใกล้เคียงกับแรงงานในระบบมากขึ้น โดยให้ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินสงเคราะห์บุตร

          สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

          1. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย กรณีหากเจ็บป่วยและนอนโรงพยาบาลให้อยู่ที่ 300 บาท/วัน กำหนดไม่เกิน 90 วันต่อปี ส่วนกรณีถ้าไม่นอนโรงพยาบาลแต่แพทย์สั่งให้หยุดงานตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี และกรณีที่แพทย์สั่งให้หยุดพักไม่เกิน 3 วันจะได้ครั้งละ 50 บาท ไม่เกิน 3 ครั้งต่อปี

          2. เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ ได้รับเงินทดแทน 500-1,000 บาท/เดือน ตลอดชีวิต โดยมีเงื่อนไข คือ

          - จ่ายเงินสมทบครบ 6 เดือน ภายใน 10 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 500 บาท/เดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 20 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 650 บาท/เดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 24 เดือน ภายใน 40 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 800 บาท/เดือน
          - จ่ายเงินสมทบครบ 36 เดือน ภายใน 60 เดือน ก่อนเป็นผู้ทุพพลภาพ จะได้รับเงินทดแทน 1,000 บาท/เดือน

          3. ได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 40,000 บาท โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเดือนถึงแก่ความตาย

          4. ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาท/เดือน ต่อบุตร 1 คน ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุไม่กิน 6 ปีบริบูรณ์ สามารถใช้สิทธิ์ได้คราวละไม่เกิน 2 คน โดยต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน
 

          5. ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งจะได้รับเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และลาออกจากการเป็นผู้ประกันตน และได้รับเงินบำเหน็จที่สะสมไว้เดือนละ 150 บาทพร้อมดอกผล โดยสามารถจ่ายเงินสมทบเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 1,000 บาท/เดือน อีกทั้ง เมื่อจ่ายครบ 180 เดือน รับเงินก้อนอีก 10,000 บาท

          ประกันสังคม มาตรา 40 สามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ไหม
          เงินสมทบในแต่ละปีสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยใช้ใบเสร็จรับเงินที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเป็นหลักฐาน หรือขอหนังสือรับรองการชำระเงินสมทบได้จากสำนักงานประกันสังคม

          ประกันสังคม มาตรา 40 สมัครอย่างไร

           สำหรับใครที่มองเห็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ และต้องการที่จะสมัครประกันสังคมมาตรา 40 สามารถดำเนินการสมัครด้วยตนเองโดยสมัครใจ มีรายละเอียดการยื่นใบสมัคร ผู้ประกันตนมาตรา 40 ดังนี้

            1. ต้องยื่นใบสมัครตามแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 (แบบ สปส. 1-40)

            2. สถานที่ยื่นใบสมัคร          - กรุงเทพฯ : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)
          -  ภูมิภาค : ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสาขา
          - หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม


           3. หลักฐานการสมัคร

          - บัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรประชาชน พร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง หรือบัตรอื่นที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชน

          - แบบคำขอสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 (สปส.1-40)

ประกันสังคม

          วิธีการจ่ายเงินสมทบมาตรา 40

          สามารถจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา หน่วยบริการเคลื่อนที่ของสำนักงานประกันสังคม รวมถึงเคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ห้างเทสโก้โลตัส และจ่ายเป็นธนาณัติผ่านทางไปรษณีย์  นอกจากนี้ยังสามารถหักผ่านบัญชีธนาคารต่าง ๆ ตามนี้          - ธนาคารเพื่่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

          - ธนาคารออมสิน

          - ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)

          - ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

          - ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

          - ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 


          ประกันสังคม มาตรา 40 อยากเปลี่ยนทางเลือกทำได้ไหม

          เราสามารถยื่นขอเปลี่ยนทางเลือกจ่ายเงินสมทบได้ที่สำนักงานประกันสังคม ปีละ 1 ครั้ง โดยเมื่อยื่นขอเปลี่ยนแปลงทางเลือกแล้วจะมีผลในเดือนถัดไป
 
          ได้ข้อมูลครบถ้วนกันไปแล้วสำหรับประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ดี ๆ ที่เอื้อให้แก่กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นอย่างมาก เพราะหากวันหนึ่งเราเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา ก็จะได้มีเงินประกันสังคมที่เราจ่ายไปในทุก ๆ เดือน กลับมาดูแลคุ้มครองเราได้ ส่วนใครที่กังวลว่า ถ้าสมัครเป็นผู้ประกันตนแล้ว จะไปกระทบกับสิทธิการรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกโรค ทางสำนักงานประกันสังคมก็ออกมายืนยันแล้วว่าเป็นคนละส่วนกัน และไม่กระทบกับสิทธิ 30 บาทอย่างแน่นอน

          สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม มาตรา 40 สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคม หรือโทร. 1506


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานประกันสังคม