📣 คนโสดฟังทางนี้ ยุคที่หลายๆ คนนิยมเป็นโสดกันมากขึ้น ทั้งอิสระ ไม่ต้องคอยระแวงใคร แถมไม่ต้องซีเรียสกับค่าใช้จ่ายเรื่องครอบครัวอีก วันนี้เลยจะมาบอก 'How to วางแผนการเงิน เกษียณอายุ ฉบับสาวโสด' ในช่วงบั้นปลายชีวิตเราต้องยืนด้วยลำแข้งตัวเองให้ได้ มาดูวิธีเตรียมเงินสำหรับคนโสดกัน ว่าควรเตรียมตัวยังไงเพื่อให้ใช้ชีวิตบนคานได้อย่างมีความสุข
How to วางแผนการเงิน เกษียณอายุ ฉบับสาวโสด
1. คำนวณเงินไว้ใช้บนคาน
ควรจะเริ่มเก็บเงินออมตั้งแต่ก่อนเกษียณ เริ่มคำนวณดูว่าต้องมีเงินก้อน ณ วันเกษียณเท่าไร แล้วเก็บออมให้เพียงพอ ตัวอย่าง 💬 ปัจจุบันอายุ 25 ปี อยากเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะเสียชีวิตตอน 80 ปี ดังนั้นจะมีเวลาเก็บเงิน 35 ปี เพื่อใช้เงินไปอีก 20 ปีข้างหน้า คำนวณค่าใช้จ่ายต่อเดือน ค่าอาหาร 9,000 บาท ค่าเน็ต 200 บาท ค่าน้ำ ค่าไฟ 1,000 บาท ค่าอาหารแมว 1,000 บาท อื่นๆ 5,000 บาท รวม 16,200 บาทต่อเดือน 194,400 บาทต่อปี 💸 ดังนั้น ต้องมีเงินเพื่อเกษียณ 3,888,000 บาท
2. ลงมือออมเงิน
จากตัวอย่าง ต้องเก็บเงิน 3,888,000 บาท ภายใน 35 ปี ต้องออมเดือนละ 3,888,000 / 35 /12 = 9,258 บาท แต่ถ้าออมในที่ที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า จะลดเงินออมในแต่ละเดือนเหลือเพียง 🔸 ฝากประจำ 1.83% เหลือออม 6,689 บาทต่อเดือน 🔸 ตราสารหนี้ 2.73% เหลือออม 5,645 บาทต่อเดือน 🔸 กองทุนรวมผสม 6.16% เหลือออม 6,689 บาทต่อเดือน 🔸 หุ้น 11.35% เหลือออม 874 บาทต่อเดือน จะเห็นได้ว่า หากเราเลือกออมเงินในที่ที่ผลตอบแทนดีกว่า จากออมเดือนละ 9,258 บาท จะเหลือเพียงเดือนละ 874 บาทเท่านั้น แต่ยิ่งผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย เพราะฉะนั้น ก่อนลงทุนควรศึกษาหาความรู้ก่อนการลงทุนกันด้วยนะ
3. ทำประกันสุขภาพ ป้องกันความเสี่ยง
คนโสดมักทำงานหนักเพื่อสนุกกับชีวิตที่อิสระเสรี แต่ก็ไม่ควรละเลยที่จะดูแลสุขภาพตัวเอง เพราะโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ การไปหาหมอครั้งหนึ่งอาจมีค่ารักษาหลักพันถึงหลักหมื่นบาท แต่หากเป็นโรคร้ายแรงอาจถึงหลักแสนหลักล้านบาท จึงต้องเตรียมเงินให้พร้อมสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 📣 ดังนั้น การทำประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง ก็เป็นตัวเลือกอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยบรรเทาภาระค่ารักษาพยาบาลได้ และการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง หมั่นตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ก็ช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน
4. วางแผนที่อยู่อาศัยหลังเกษียณ
เมื่ออยู่ตัวคนเดียว เราก็ควรมองหาที่อยู่อาศัยที่มีขนาดเหมาะกับตัวเอง ซึ่งจะทำให้ประหยัดเงินได้มากพอสมควร หรือบางคนอยู่บ้านเดียวกันกับพ่อแม่ก็ยิ่งไม่ต้องเสียเงินซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียมใหม่ อาจแค่ปรับปรุงบ้านให้เหมาะกับการใช้ชีวิตช่วงเกษียณ เช่น สร้างห้องนอนชั้นล่าง ปรับพื้นห้องน้ำไม่ให้ลื่น เป็นต้น เงินที่เหลือก็เน้นไปลงทุนเพื่อเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณ หรือยังมีอีกทางเลือกคือ การอยู่ในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุหรือบ้านพักคนชรา มีพยาบาลคอยดูแลช่วยเหลือ ทั้งยังมีเพื่อนวัยเดียวกันช่วยคลายความเหงาได้