แบ่งปันประสบการณ์ การบริหารเงิน ทำอย่างไรถึงจะมีเงินล้าน

ถ้าหากพูดถึงเรื่องเงินทองใครก็อยากจะได้ ทำงานหนักเก็บเงินเก็บทองเรื่อยๆ แต่ทำไมมันถึงไม่ถึงล้านสักที วันนี้เราจะพาไปดูกระทู้หนึ่งจากสมาชิกพันทิป mpORD ที่ได้ออกมาแชร์เล่าประสบการณ์และหลักการในการบริหารจัดการเงินยังไงให้ให้ถึงล้าน เป็นยังไงนั้นตามไปดูกันเลยครับ  

       เอากระทู้เก่ามาปัดฝุ่นเล่าใหม่ เผื่อสมาชิคพันทิปรุ่นนี้จะเอาไปเป็นข้อคิดและปรับใช้ให้เป็นประโยชน์บ้างเพราะเห็นมีกระทู้ปรับทุกข์เรื่องหนี้สิน รวมทั้งเรื่องบ้านเรื่องรถโดนเจ้าหนี้หรือธนาคารยึดขายทอดตลาดอยู่เป็นประจำ ขอเกริ่นก่อนว่าถึงแม้ว่าเรื่องราวการบริหารเงินและการดำเนินชีวิตของเราส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่ว่าเป็นหลักการที่ใคร ๆ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่เมืองไทยหรือที่ไหนๆ  และขอย้ำว่าที่เราเขียนเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตัวเองนั้นไม่ใช่เพื่อต้องการโอ้อวดความมั่งมี แต่ต้องการบอกเล่าประสบการณ์และหลักการบริหารเงินเพื่อเป็นกำลังใจและเป็นแรงบันดาลใจแก่คนที่มาอ่าน เผื่อจะมีใครเห็นคุณค่านำไปปรับปรุงใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสร้างความมั่นคงแก่ตัวเองและครอบครัวในอนาคตเท่านั้นเองค่ะ

       เราไม่มีทรัพย์สมบัติมาจากไหน  ใช้ชีวิตแบบตีนถีบปากกัดมาตั้งแต่เกิด เมื่อโตขึ้นได้ไปรู้ไปเห็นครอบครัวอื่นถึงได้รู้ว่าครอบครัวของเรายากจน  แต่ก็ไม่ได้คิดเปรียบเทียบกับใครหรือน้อยใจอะไรเพราะเห็น ๆ  อยู่ว่าพ่อแม่พยายามเลี้ยงดูอย่างดีที่สุดแล้ว เห็นรูปพ่อแม่นั่งนับตังค์รูปนี้ทีไร น้ำตาไหลทุกที

       ถึงแม้ว่าเราเติบโตมาอย่างนี้ แต่เดี๋ยวนี้เรามีเงินสะสมเจ็ดหลัก  USD มีบ้านของตัวเองอยู่ ไม่มีหนี้สินแม้แต่สตางค์แดงเดียวมายี่สิบกว่าปีแล้วตั้งแต่ส่งค่าบ้านหมด    มีความสุขดี   ไม่รุ่มร้อน  เรากับสามีไม่เคยทะเลาะกันเรื่องเงินทอง แต่เราทุ่มเทเงินทองเพื่อการศึกษาและซื้อประสบการณ์ชีวิตอย่างเต็มที่ตลอดมาโดยเฉพาะเรื่องส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือ เดินทางท่องเที่ยว และดูคอนเสิร์ตฟังดนตรีดูการแสดงที่ชอบ 

       เราชอบเที่ยวกันทั้งสองคนและวางแผนเที่ยวอยู่ตลอดเวลาถึงแม้จะเกษียณแล้ว สามีเขาเกษียณมาได้ 16  ปี ส่วนเราเกษียณมา 4 ปีครึ่งเเล้ว เราสองคนไปเที่ยวมา 52 ประเทศ บางประเทศไปหลายครั้งหลายหนและยังเที่ยวอยู่เรื่อย ๆ เพราะถือว่าการเดินทางเป็นการศึกษาประเทืองปัญญาเเละเป็นการฝึกฝนทักษะอย่างดี ถ้าหากคิดตามระยะทางแล้วเราไปมารอบโลกอย่างน้อยสี่สิบสองรอบหกทวีปเเล้ว ยังเหลือแต่ออสเตรเลียเท่านั้นที่ยังไม่ได้ไป 

       เราส่งลูกเรียนหนังสือจนจบมหาวิทยาลัยโดยไม่เป็นหนี้ธนาคารอย่างที่เด็กอเมริกันจำนวนมากเป็นกัน  ทั้ง ๆ ที่โดยปกติแล้วค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในอเมริกาสูงมาาาาาาากกกก ขออธิบายว่า ที่อเมริกา ที่พ่อแม่ชนชั้นกลางส่งเสียให้ลูกเรียนจนจบมหาวิทยาลัยโดยไม่ให้ลูกกู้เงินมาเรียนจนเป็นหนี้หัวโตนี่ไม่ใช่เรื่องปกตินะเพราะค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่สูงจริง ๆ พ่อแม่ส่วนมากไม่ค่อยมีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนให้ลูกจนหมดหรอก อีกประการหนึ่งเขาถือว่าเวลาลูกอายุ 18 ปีนี่บรรลุนิติภาวะแล้ว ส่วนใหญ่จะให้ลูกรับผิดชอบตัวเอง  ถ้าอยากเรียนก็ให้ไปหาค่าเล่าเรียนเอาเองก็แล้วกัน คนหนุ่มคนสาวชาวอเมริกันจำนวนมากจึงกู้เงินมาเรียน เวลาจบแล้วถึงได้เป็นหนี้ธนาคารมากมาย จะต้องผ่อนส่งอยู่หลายปีกว่าจะหมดหนี้ 

       ส่วนเรานั้นส่งลูกเรียนจนจบได้ปริญญา พอลูกเรียนจบยังมีเงินเหลือให้ลูกไปตั้งต้นเริ่มเช่าห้องในแมนฮัตตันเมื่อลูกเริ่มทำงานอีกด้วย ถ้าใครเคยหาห้องพักในนิวยอร์คจะรู้ดีว่าค่าเช่าสูงแค่ไหน แถมจะต้องมีเงินให้พอค่าเช่าสำหรับสามเดือนถึงจะเช่าได้ เพราะเขาจะเรียกค่ามัดจำเพื่อค้ำประกันค่าเช่าเดือนแรกและเดือนสุดท้ายก่อนจะย้ายออกในอนาคต บวกกับค่านายหน้าจำนวนเท่ากับค่าเช่าหนึ่งเดือนอีกต่างหาก เงินค่านายหน้านี้จะไม่ได้คืนเวลาย้ายออก                         

       แล้วเราทำยังไงล่ะถึงเก็บเงินได้ตั้งแยะอย่างนี้ คำตอบอยู่ที่ว่า เราเลือกวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีวินัยการเงิน จับจ่ายใช้สอยต่ำกว่ารายได้   ไม่ซื้ออะไรที่เกินกำลังจ่ายจนเป็นหนี้ติดสินไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือรถรา และมองว่าเงินคือสิ่งสมมุติแต่เป็นสิ่งจำเป็นในการแลกเปลี่ยนปัจจัยสี่เท่านั้นเอง แต่เราทุ่มเทเงินทองเพื่อการศึกษาและซื้อประสบการณ์ชีวิตอย่างเต็มที่ตลอดมา 

       หมายเหตุ เราหักเงินทุกเดือนซื้อกองทุนสะสมก่อนที่จะเอาส่วนที่เหลือไปใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันและไม่กู้หนี้ยืมสินเด็ดขาด

       ย้อนไปถึงสมัยที่เรายังเป็นเด็ก พ่อแม่ของเราทำขนมขาย หาเช้ากินค่ำ เดิมพ่อเป็นช่างก่อสร้างแต่ประสบอุบัติเหตุตกจากหลังคา ขาหักกระดูกเท้าแตก เดินขากะเผลกเลยต้องอยู่บ้านช่วยแม่ทำขนมขาย ตื่นแต่ตีสี่ทุกวัน ลูก ๆ ทุกคนก็ต้องตื่นแต่เช้าช่วยทำขนมคนละไม้ละมือเช่นกัน  ไม่ว่างเว้นแล้วถึงจะไปโรงเรียน

       แม่จะหาบขนมขายไปที่ตลาดแต่เช้ามืดก่อน พอตลาดวายก็กลับมาทำขนมต่อ แล้วหาบไปขายตามหมู่บ้านบ้าง ตามงานวัดบ้าง จนบ่ายก็กลับมาทำขนมต่อเพื่อเตรียมเอาไปขายวันรุ่งขึ้นด้วย พอลูก ๆ กลับจากโรงเรียนก็ถูบ้านทำความสะอาดบ้านและช่วยพ่อแม่ทำขนมอีก วนเวียนอยู่เช่นนี้นานนับปี ตอนหลังสุดแม่ได้ไปขายที่โรงเรียนเป็นขาประจำจึงค่อยสบายขึ้นหน่อยหนึ่ง เพราะไม่ต้องหาบไปขายทั้งวัน     

       รูปข้างบนนั่นถ่ายเมื่เรากลับมาเยี่ยมบ้านหลังจากที่เรียนสำเร็จระดับปริญญาโทที่ฝรั่งเศส ระยะนี้ฐานะการเงินของพ่อแม่กระเตื้องขึ้นมากว่าเดิมมากแล้วนะนั่นเพราะได้ขายประจำที่โรงเรียน

       เคยมีคนที่เห็นรูปข้างบนนั้นมาติงว่าไม่จนจริงหรอกเพราะเห็นมีตู้หนังสือในรูปไง ถ้าจนจริง ๆ แล้วเอากล้องไหนมาถ่ายรูปนี้

       ขออธิบายว่า ที่เห็นในรูปนั้นฐานะการเงินของพ่อแม่ดีขึ้นมากแล้ว ไม่ได้ถามพ่อแม่ว่าเป็นเงินที่กำลังนับอยู่นั้นเก็บมารวมกันตั้งแต่กี่วัน แต่เรารู้ดีว่าเขาไม่ได้มีเก็บไว้ที่ไหน เพราะเราแบ่งทุนที่เราได้มาให้พ่อแม่และเป็นค่าเล่าเรียนของพี่และน้องตั้งแต่สมัยที่เราเรียนที่ธรรมศาสตร์แล้ว ส่วนตู้หนังสือที่เห็นในรูปนั้นพ่อต่อเอาเองจากเศษไม้ที่เหลือ ๆ ที่เขาทิ้งจากสถานก่อสร้างที่พ่อเคยไปทำ หนังสือในตู้นั้นคือตำราของเราที่พ่อแม่เเก็บไว้ให้หลังจากที่เรียนจบจากธรรมศาสตร์ ส่วนกล้องตัวนั้นเป็นกล้อง Kodak instamatic ที่ยืมของรุ่นพี่มาตอนกลับมาเยี่ยมบ้าน

       ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะลำบากอย่างนั้นแต่คอยสั่งสอนให้ลูกทุกคนประพฤติตัวให้สุภาพเรียบร้อย พูดจาสุภาพอ่อนหวาน  มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่ มีน้ำใจเอื้ออารีต่อผู้อื่น ไม่ทำอะไรผิดศีลธรรม และสนับสนุนให้ลูกทุกคนรู้จักแสวงหาความรู้ และเล่าเรียนหนังสือ

       พ่อแม่ไม่เคยบ่นเลยเวลาลูกหมกมุ่นดูตำรา แม้จะอด ๆ อยาก ๆ ก็ตามจะพยายามอดออมแสวงหาค่าเล่าเรียนมาให้ลูก       แม่จะสอนลูกอยู่เสมอว่า รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม สนับสนุนให้ลูกใฝ่หาความรู้ไม่หยุดหย่อนทั้ง ๆ ที่เเม่เรียนจบชั้นประถมสี่เท่านั้น ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนล้ำค่าที่ฝังจิตฝังใจมาจนถึงทุกวันนี้

       เมื่อเราเรียนจบชั้นมัธยม ไปสอบติดที่ธรรมศาสตร์  พ่อแม่เขาช่วยออกค่าใช้จ่ายให้เทอมแรก แล้วอาจารย์ใจดีท่านหนึ่งไปหาทุนมาให้  เลยไม่ต้องรบกวนพ่อแม่อีกเลย

       รับพระราชทานทุนภูมิพลฐานที่สอบเข้าได้ที่หนึ่งของคณะ

       ***หมายเหตุ ทุนที่ได้รับขณะที่เรียนที่ธรรมศาสตร์นี้เรียกว่าหล่นตุ้บมาโดนหัวล่ะกระมังทั้งๆที่ไม่ได้ไปกราบเรียนอ้อนวอนให้ใครเอามาให้ไม่ได้แย่งใครมาหรอกนะ เรื่องของเรื่องก็คือเรารู้ดีว่าพ่อแม่คงไม่สามารถส่งเราเรียนตลอดสี่ปี  เลยไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาขอกู้ค่าเล่าเรียนจากคณะ คิดว่าคงเป็นเพราะว่าความที่เราสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ที่หนี่งของคณะอาจารย์เลยไปบอกคณบดี ท่านเลยไปหาทุนมาให้แทนที่จะให้กู้เงินจากคณะเป็นหนี้เป็นสิน คณบดีบอกว่าเจ้าของทุนขอร้องไม่ให้ท่านเปิดเผยให้เราทราบว่าผู้ที่ให้ทุนนั้นเป็นใคร  ท่านอยากจะทำบุญช่วยเหลือนักศึกษาที่เรียนดีแต่ยากจนเท่านั้น     ให้ทุนแล้วให้เลย   ไม่หวังอะไรตอบแทน***

       เราพยายามมุมานะขยันเรียนเพราะคิดเอาเองว่าถ้าเกิดคะแนนไม่ดีอาจจะถูกตัดทุน และใช้เงินอย่างระมัดระวังจับจ่ายแต่สิ่งจำเป็นเท่านั้นทั้งเสื้อผ้าทั้งอาหาร ที่ท่าพระจันทร์มีอาหารอร่อย ๆ เยอะแยะ  แต่ไปกล้าซื้อกินบ่อย ๆ   

       มีอยู่หนหนึ่ง  เพื่อน ๆ เรี่ยไรเงิน 100 บาทจากทุกคนเพื่อจะเอาไปซื้อดอกไม้แพง ๆ เพื่อถวายท่านอาจารย์ในโอกาสอะไรก็จำไม่ได้เเล้ว  เงิน 100 บาทเมื่อ 45 - 46 ปีที่แล้วมีมูลค่าราวๆ 3000 หรือ 5000 บาทเดี๋ยวนี้กระมังคะ  ซึ่งก็เป็นจำนวนมากมายสำหรับเราเพราะถ้าจำไม่ผิดเราได้ทุนค่าใช้จ่ายเดือนละ 400 บาทเป็นค่าหอพักและค่าอาหาร เจ้าของทุนใจดีให้ค่าเล่าเรียนต่างหาก  เราเลยตัดสินใจไม่ร่วมกับการเรี่ยไรของเพื่อน โอย โดนเพื่อนต่อว่าอย่างหนัก  หาว่าขี้เหนียว ไม่รู้จักกตัญญูรู้คุณต่ออาจารย์  ทีรองเท้าใหม่ยังซื้อได้   ค่าดอกไม้แค่นี้ไม่ยักจ่าย หารู้ไม่ว่ารองเท้าคู่เก่าคู่เดียวที่มีอยู่เพิ่งขาดไป   ถ้าไม่ไปซื้อใหม่ก็จะไม่มีรองเท้าสวมไปเรียนหนังสือ

       เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ เราเเบ่งค่าทุนส่งไปให้พ่อแม่ตั้งแต่เรียนปีที่สองแล้ว   ทั้งยังส่งไปช่วยออกค่าลงทะเบียนให้พี่ชายที่เริ่มเรียนที่รามคำเเหงอีกด้วย

       นั่นคือวิถีการใช้เงินใช้ชีวิตของเรา จะระมัดระวังในการใช้จ่ายเพื่อดำรงชีวิตประจำวัน   ใช้จ่ายโดยประมาณ   ใช้ของดีมีคุณภาพ   โดยไม่จำเป็นต้องขวนขวายหาของมีตราเด่นดังราคาแพงเกินเหตุ   แต่จะทุ่มเท ทั้งเงิน ทั้งเวลา ทั้งความสามารถ ทั้งความมานะพยายามในการแสวงหาความรู้เสริมสร้างปัญญาและประสบการณ์ ตลอดเวลาสี่ปีที่เรียนวิชาเอกภาษาฝรั่งเศส  เราเจียดเงินไปเรียนภาษาฝรั่งเศสพิเศษเพิ่มเติมที่สถาบันฝรั่งเศสที่ถนนสาธร ไม่มีว่างเวัน ปีสุดท้ายท่านอาจารย์หัวหน้าแผนกภาษาฝรั่งเศสท่านเห็นผลการเรียนเลยให้ทุนเป็นค่าเรียนพิเศษและค่าตำราเพิ่มไปจากทุนค่าเรียนค่ากินอยู่ที่ได้รับจากอีกเจ้าทุนหนึ่งอยู่เเล้ว ปีหลัง ๆ ที่ธรรมศาสตร์ยังไปสอนพิเศษหารายได้เพิ่มด้วย สอนภาษาไทยให้ชาวอเมริกันบ้าง  ชาวฝรั่งเศสบ้าง และสอนภาษาฝรั่งเศสให้เด็กไทยค่ะ เหนื่อยหน่อย แต่ก็ได้ฝึกภาษาทั้งขึ้นทั้งล่อง

       ทุกวันนี้ก็ยังสอนลูกว่าอย่าหยุดการแสวงหาความรู้  ให้พยายามฝักใฝ่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลาจนกระทั่งวันตาย

       เชื่อว่าความมุมานะและการไปเรียนพิเศษเพิ่มเติมที่สถาบันฝรั่งเศส ช่วยทำให้สอบได้ทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ เราบินไปปารีสทันทีที่จบหลักสูตรที่ธรรมศาสตร์โดยไม่รอเข้าพิธีรับปริญญาก่อน เพราะทางทุนเขาส่งให้ไปเรียนภาษาเพิ่มช่วงหน้าร้อนก่อนลงทะเบียนเรียนโท  ทุนนี้เป็นทุนด้านวัฒนธรรมให้ไปเรียนที่ฝรั่งเศสโดยไม่มีข้อผูกมัดอะไรอะไรเลย

       โอยๆๆๆ ใครๆ ก็รู้ว่าปารีสนี่มีของยั่วใจมากมาย เสื้อผ้าถุงน่องรองเท้า กระป๋งกระเป๋า เครื่องสำอาง ล้วนแต่ทำให้น้ำลายไหลทั้งนั้น  มีใครที่ไหนไม่รู้บ้างว่าปารีสเป็นศูนย์แฟชั่นมานานนักหนา แล้วเวลาเพื่อนไปอิตาลี แต่ละคนจะขนซื้อกระเป๋า และเครื่องหนังอื่น ๆ กลับมาเป็นแถว  

       แต่เชื่อไหมคะ ว่าเราอยู่ที่ปารีสเกือบสี่ปีซื้อแค่ลิปสติคไม่กี่แท่ง  แล้วซื้อน้ำหอม Chanel ขวดเดียวเท่านั้นเอง

       ทำไมถึงใจแข็งอะไรปานนั้นนะ   จะขี้เหนียวไปถึงไหนหรือ ไม่ใช่อะไรหรอกค่ะ ทุนที่ได้นั้นมีแค่พอเป็นค่าหอพัก ค่าอาหารที่โรงอาหารนักเรียน และค่าเดินทางอีกนิดหน่อยเท่านั้นเอง  ยังดีที่ก่อนออกเดินทางเมื่ออาจารย์พาไปกราบเจ้าของทุนที่ส่งให้เรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เจ้าทุนท่านให้เงินติดกระเป๋ามาหน่อยหนึ่ง แต่ก็ต้องเอาไปจ่ายค่ามัดจำหอพักที่ปารีสเสียเกือบหมด เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องเลือกค่ะ ไม่ซื้อเครื่องสำอาง  หรือเสื้อผ้าข้าวของสวยๆ อะไรเลย
เพราะไงรู้ไหมคะ เพราะจะเก็บตังค์ไปเที่ยวไง
 
       ทั้งยังแบ่งเงินจากทุนและเงินที่ได้จากการเฝ้าดูแลลูกของเพื่อนชาวฝรั่งเศสไปให้พ่อแม่และออกค่าเล่าเรียนของน้องด้วยจึงต้องเขียมอย่างขนาดหนัก

      ก็เป็นประสบการณ์ในการบริหารการจัดการเงิน เผื่อจะเป็นไอเดียในการบริการจัดการเงินให้กับหลายคนที่อยากจะมีเงินล้าน ก็เป็นอีกหนึ่งบทความประสบการณ์ดีๆ ที่นำมาแชร์แบ่งปันกัน 

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก mpORD