5 ความเชื่อ?! เคล็ดวิธีสวดคาถาให้เกิดอานุภาพ

อักขระศักดิ์สิทธิ์ถูกร่ายออกมาเป็นเสียงที่ชัดถ้อยชัดคำ บนพื้นฐานแห่งความตั้งมั่นของจิตก่อกำเนิดเป็นอานุภาพสำแดงฤทธิ์อำนาจอย่างใจปรารถนา ด้วยว่า “คาถา” จะแก่กล้าสามารถ มีความเข้มขลัง จนนำไปใช้อย่างได้ผล ย่อมเกิดโดยผู้ใช้ที่มีจิตเป็นสมาธิ




“คาถา” มีนัยยะโดยกว้าง หากแต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึง “คาถาอาคม” ที่เริ่มต้นด้วยการแต่งอักขระ มีเจตนาหวังให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์เมื่อมีผู้นำไปใช้ ซึ่งจะเกิดผลหรือไม่? หาใช่เพียงตัวบทคาถาเพียงอย่างเดียว แต่หลักใหญ่ใจความ ของการใช้คาถาให้เกิดอานุภาพ อยู่ที่ผู้ใช้เป็นสำคัญ เปรียบคาถาได้กับมีดเล่มหนึ่ง แม้จะถูกลับให้คมสักปานใด หากอยู่ในมือของผู้ที่ใช้ไม่เป็น มีดเล่มนั้นก็เปล่าประโยชน์ แต่ถ้ามีดอยู่ในมือของผู้ที่ใช้เป็น  ย่อมเกิดประโยชน์แก่ผู้ใช้ อย่างไรก็ดี มีเคล็ดความเชื่อต่างๆที่เป็นปัจจัยต่อการการสวดคาถาให้เกิดอานุภาพนั้นมีอยู่หลายประการ ดังนี้คือ
 “สมาธิ”  ผู้ใช้คาถาที่จะร่ายอักขระให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ประจักษ์แก่อานุภาพได้ จะต้องมีพื้นฐานที่สำคัญมาเป็นอันดับแรก นั่นคือ “สมาธิ”  เพราะในอดีต มีคาถาอาคมร้อยแปดพันเก้า ทั้งคาถาที่ใช้ไปในทางที่ดี และคาถาที่พวกพ่อมดหมอผีใช้กัน ไม่ว่าจะเป็นคาถาในรูปแบบใด หากผู้ใช้มีสมาธิอันแก่กล้า  คาถาเหล่านั้นก็จะเกิดผลได้อย่างใจปรารถนา… “สมาธิ”  หรือความตั้งใจอย่างแนวแน่ จิตไม่วอกแวกหวั่นไหว ไม่ฟุ้งซ่านรำคาญใจ  เพราะมีความจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นๆ ย่อมทำให้การสวดคาถาได้ผล ในทางตรงกันข้ามหากใจสั่นไหว ไม่นิ่ง เพราะคิดอยากให้คาถาที่ตนท่องเกิดผล? ก็จะไม่ได้ผล เพราะมีความอยากซึ่งทำให้จิตใจสับสนกระวนกระวาย สวดคาถาด้วยความว้าวุ่นใจ มุ่งแต่อยากให้ได้ผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว เช่น  บางคนอยากได้โชคลาภ จึงสวดคาถาด้วยความอยากได้อยากมี อยากรวย จิตใจจึงสั่นไหวไปด้วยกิเลส ก็ยากนักที่สมาธิจะเกิดขึ้นได้


สวด “อักขระอย่างชัดเจน” เพราะจะมีผลให้เกิดสมาธิได้ง่าย เปล่งเสียงพอประมาณไม่จำเป็นต้องดังเกินไป มีจังหวะที่พอดี ไม่ช้าหรือเร็ว และไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ความหมายของคาถาทุกคาถาเสมอไป แต่ในบางคาถาหากรู้ความหมายก็จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น เช่น “พระคาถาชินบัญชร” เป็นต้น สำหรับในบางรายหากมีสมาธิที่แน่วแน่แล้ว การสวดท่องจะเร็วหรือช้า จะเปล่งเสียงดังหรือสวดในใจก็เกิดผลได้ เพราะผู้นั้นจิตใจจดจ่อกับการสวดบริกรรม เกิดสมาธิเป็นสำคัญแล้วนั่นเอง แต่ผู้ที่สวดเริ่มแรกก็ควรเปล่งเสียงอักขระให้ชัดเจนก่อน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น เรียกพลังใจและทำให้เกิดความจดจ่อในอักขระที่สวด จะทำให้เกิดสมาธิได้ง่าย
 “สวดนะโม 3 จบ ก่อนสวดคาถา”  และ “มีความเคารพต่อครูบาอาจารย์ผู้แต่งคาถา” ถือเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ เพราะบทคาถาที่ใช้ในทางที่ดีนั้นมีอยู่มาก ถูกแต่งขึ้นโดยโบราณจารย์ผู้เชี่ยวชาญในอักขระและมีความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก จึงสำคัญอย่างยิ่งว่า ก่อนสวดคาถาจะต้องสวดนะโม 3 จบ เพื่อแสดงความนอบน้อมต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และมีความนอบน้อมเคารพต่อครูบาอาจารย์ผู้แต่งคาถานั้นๆ หากจิตมีความนอบน้อมแล้วจะทำอะไรก็ย่อมสำเร็จผลได้ง่าย ในบางคาถาผู้ที่จะสวดท่องอาจต้องอธิษฐานขออนุญาตต่อเจ้าของคาถา หรือเอ่ยถึงชื่อครูบาอาจารย์ที่แต่งคาถานั้นๆเพื่อให้การใช้คาถาเกิดผล หรือในบางคาถาก็ต้องไปร่ำเรียนกับครูบาอาจารย์เป็นกิจจะลักษณะอีกด้วย อย่างที่จะเห็นได้ตามประวัติพระเกจิอาจารย์รูปต่างๆ ที่ท่านต้องเดินทางไปร่ำเรียนคาถาอาคมกับครูบาอาจารย์ผู้สืบทอดคาถานั้นๆ ฝึกฝนกันจนเชี่ยวชาญและใช้จนเกิดผลได้จริง เรียกว่าหากต้องการใช้คาถาให้เกิดผลอย่างดีและถูกต้อง ก็จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์นั่นเอง และในสมัยก่อน การจะร่ำเรียนคาถาและการถ่ายทอดคาถาให้ใครนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย


“อุปเท่ห์การใช้คาถา”  คาถาแต่ละบทอาจมีเคล็ดหรืออุปเท่ห์การใช้ที่แตกต่างกันไป บางบทต้องสวดย้อนอักขระ เพื่อให้เกิดความมีสมาธิ มีความจดจ่อมากยิ่งขึ้น เช่น “คาถาอิติปิโสถอยหลัง” หรือในบางคาถาอาจมีอักขระไม่กี่ตัว แต่ต้องสวดซ้ำๆหลายๆจบ เพื่อให้เกิดสมาธิ มีความตั้งมั่น  คาถาบางบทก็มีอุปเท่ห์ตามที่โบราณจารย์ได้สอนไว้ เช่น “คาถามงกุฎพระพุทธเจ้า”  ที่ต้องสวดคาถาแล้วเอาความรู้สึกไปกำหนดไว้ที่ศรีษะในแต่ละทิศจึงจะเห็นผลได้ดี เป็นต้น จะเห็นว่าอุปเท่ห์หรือเคล็ดการใช้คาถา ทั้งการสวดย้อนอักขระ สวดเดินหน้าถอยหลัง หรือการสวดซ้ำๆหลายๆจบ มีนัยยะแฝงไว้ประการหนึ่ง คือ ให้จิตจดจ่อกับอักขระนั้นๆ จนเกิดเป็นสมาธิ จึงอาจกล่าวได้ว่า สมาธิเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้คาถาให้เกิดผล  

“สัจจะวาจา” นอกจากการตั้งสมาธิให้แน่วแน่ การตั้งใจสวดอักขระอย่างชัดเจน การสวดนะโมสามจบก่อนสวดคาถา และอุปเท่ห์ของการใช้คาถาต่างๆที่มีผลต่อการใช้คาถาให้เกิดอานุภาพแล้ว อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือ ในสมัยโบราณนั้น คาถาจะใช้ได้อย่างเกิดผล ผู้นั้นจะต้องมี “สัจจะวาจา” เป็นคนรักษาคำพูด คือ พูดคำไหน ตั้งใจไว้อย่างไรก็ทำตามนั้นให้ได้ ปฏิบัติตามวาจาที่เอ่ยไว้ได้อย่างสม่ำเสมอและเคร่งครัด ก่อให้เกิด “วาจาสิทธิ์” ขึ้นมา คือ พูดอะไรไป ก็เป็นไปตามนั้น เช่นเดียวกัน หากแม้ผู้มีวาจาสิทธิ์สวดคาถา เอ่ยอักขระใดๆ ก็ย่อมเกิดผลได้ไม่ยาก เพราะสวดด้วยความมุ่งหมายอยากให้เป็นอย่างไร ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น


จะเห็นว่าการจะใช้คาถาให้เกิดอานุภาพ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากเสมอไป  หลักสำคัญที่สุด อยู่ที่ “สมาธิ”  แต่ขณะเดียวกัน  การเป็นผู้มีสัจจะวาจา ก็จะทำให้การใช้คาถาได้ผลเร็วมากขึ้น เป็นอย่างใจปรารถนาไวขึ้น ในบางคาถาที่มีอุปเท่ห์หรือเคล็ดการใช้คาถาก็จะยิ่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นมากขึ้นอีกด้วย และแต่ละบุคคลก็อาจจะมีเคล็ดการสวดคาถาให้เกิดผลในหลายวิธีต่างกันไป จึงไม่ใช่เรื่องตายตัวเสมอไปว่า วิธีไหนบ้างที่จะทำให้การสวดคาถานั้นๆได้ผล?!  หากแต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้ เพราะเป็นปัจจัยหลักในการใช้คาถาทุกคาถา นั่น คือ “สมาธิ”